Ted Williams จากนักพูดเสียงทองคำ สู่คนไร้บ้าน: เมื่อชีวิตดำดิ่งสุดทาง ก็ฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง

รู้จัก Ted Williams ผู้โด่งดังจากน้ำเสียงอันเลอค่า กลายเป็นราชาแห่งเสียงทองคำในวงการสื่อ สู่การเป็นชายไร้บ้าน ติดยา เป็นขโมย และชีวิตก็เด้งกลับมาสู่วงการใช้เสียงทองคำอีกครั้ง!??

 

บทความนี้สะท้อนให้เห็นบทเรียนสำคัญ 2 เรื่อง

1) เราจะพาไปส่องชีวิตคนที่เคยรุ่งเรือง มีความสุขอย่างเรียบง่าย สู่ความล้มเหลวนานนับสิบปี แต่ในที่สุดก็ฟื้นตัวกลับมาได้

2) ความเข้าใจผิดเรื่อง “hit rock bottom” การปล่อยให้ชีวิตจมดิ่งจนสุดทาง เมื่อไม่มีทางไปต่อแล้ว มันจะปีนขึ้นมาได้เอง

Ted Williams หรือ Theodore Fred Williams คือตัวอย่างผู้ใช้ชีวิตได้เต็มที่สุดทางจริงๆ เป็นอีกคนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมการใช้ชีวิตแบบสุดขั้ว จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคตกต่ำสุดๆ และเมื่อตกต่ำจนสุดทางแล้ว ชีวิตก็เด้งกลับขึ้นมาตามครรลองได้ปกติ อย่างที่หลายๆ คน อาจไม่มีโอกาสกลับมาได้แบบเขา

Ted มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า Ted เสียงทอง หรือ Ted “Golden Voice” Williams เขาเกิดที่บรูคลิน นิวยอร์ก ในปี 1957 มีชาวแอฟริกัน-อเมริกันรับเลี้ยงเขาไปเป็นบุตรบุญธรรม ในช่วงวัยเด็ก เขาเล่าว่า เขารู้สึกแปลกแยกกับวัฒนธรรมในสังคมตั้งแต่เด็ก เพื่อนๆ มักจะกลั่นแกล้งเพราะไม่เข้าใจในชาติพันธุ์ของเขา ทั้งสีผิว ทั้งทรงผมที่แตกต่างจากเพื่อนผิวขาวคนอื่นๆ เขามักจะถูกบูลลี่มาตลอด แต่เขาก็โต้กลับเพื่อปกป้องตนเองเช่นกัน

เมื่อเริ่มโตขึ้น เขาก็รับราชการเป็นทหารในกองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 ปี หลังปลดประจำการ เขาก็น่าจะรู้ตัวอยู่บ้างว่าตัวเองมีพลังเสียงที่โดดเด่นเหนือใคร ทำให้เขาเริ่มเข้าเรียนด้าน Voice Acting ขณะเดียวกันการเรียนเรื่องการใช้เสียงนี้ ก็เกิดมาจากที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ประกาศข่าวทางวิทยุในช่วงวัย 14 ปี ขณะที่กำลังไปทัศนศึกษา

 

จากจุดสูงสุด สู่จุดต่ำสุดของเหวลึก

ในช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็นยุครุ่งเรืองในเส้นทางอาชีพการใช้เสียงของเขา เขาเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นนักพากย์เสียง เขาทำได้ดีมากๆ ในงานที่ต้องใช้เสียง จากนั้นเขาก็เริ่มสร้างครอบครัว เริ่มมีลูกสาว 4 คน เขาบอกว่า นั่นคือช่วงชีวิตที่ดีของเขาเลย หลังจากที่วัยล่วงเลยเข้าสู่อายุ 30 ปี เขาเริ่มมีลูกชาย และได้ฉลองด้วยการเริ่มใช้กัญชา เป็นการใช้กัญชาอย่างไร้เดียงสา เขาไม่รู้เลยว่ากัญชาที่เขาใช้มันผสมกับโคเคนผลึก

(Crack Cocaine หรือโคเคนผลึก เป็นสารเสพติดอันตรายที่ติดง่ายมาก เสพเพียงครั้งเดียวก็ติดได้เลย ช่วงเวลาที่เขากำลังเริ่มใช้มัน เป็นช่วงที่เริ่มมีการออกกฎหมายต่อต้านการใช้ยาเสพติดชนิดนี้และยังเป็นช่วงที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรกำหนดโทษโคเคนผลึกหรือโคเคนผงต่างกันอย่างไร และยังเป็นช่วงเดียวกับที่มีการกำหนดโทษแตกต่างกันระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาว มันคือความไม่เท่าเทียมของบทลงโทษที่แตกต่างตามสีผิว เน้นลงโทษที่คนผิวดำมากกว่า)

เขาบอกว่า เขาชอบความรู้สึกที่ได้ หลังจากเสพมัน จากนั้นอาการเสพติดก็ค่อยๆ เริ่มขึ้น

หลังจากเริ่มเข้าสู่วงการยาเสพติด เขาก็เริ่มปลีกตัวออกจากครอบครัว ออกจากงาน ออกจากบ้าน ออกจากผลกระทบเชิงบวกที่เคยทำให้ชีวิตเขาประสบความสำเร็จและมีความสุข และชีวิตก็ค่อยๆ ดิ่งเหว

อาการเสพติดที่เกิดขึ้นหลังเสพกัญชาที่ผสมโคเคนผลึกมาด้วยนั้น ไม่ได้จบแค่นี้ เขายังติดเหล้าด้วย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเขาก็ค่อยๆ ทรุดโทรมลง เขาเริ่มรู้สึกอายที่ทำให้ครอบครัวต้องอับอาย รู้สึกแย่ที่ปล่อยให้ชีวิตได้ทำลายเสียงสวรรค์ที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด เขาโดนจับกุมหลายกรณี ทั้งเรื่องครอบครองยาเสพติด ทั้งการโจรกรรม การปล้น

Ted ใช้เวลา 15 ปีในการบ่มเพาะพลังจากเสียงสวรรค์
ใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการทำลายตัวเองและฟื้นตัวกลับมาได้

ปี 1990 เขาถูกจำคุก 3 เดือนเนื่องจากข้อหาลักทรัพย์ จากนั้นปี 2004 ก็ถูกจำคุกอีกเกือบ 2 เดือน เนื่องจากขัดขวางในการทำธุรกิจ การโจรกรรม และการปลอมแปลงเอกสาร

เมื่อชีวิตจมดิ่งถึงขีดสุด ทางเดียวที่จะคืนกลับสู่โลกปกติได้ ก็คือการปีนขึ้นมาจากเหวลึกนั้น?

จังหวะชีวิตของ Ted กำลังจะเริ่มดีขึ้น เมื่อวันหนึ่งปรากฎภาพของเขาไปยืนอยู่ตามสี่แยกถนนและถือป้ายที่เขียนด้วยตัวเองระบุว่า พระเจ้าได้มอบน้ำเสียงทองคำให้เขา พร้อมขอรับบริจาคเงิน

ชีวิตเขาเริ่มผกผันอีกครั้ง เมื่อสำนักข่าว The Columbus Dispatch เผยแพร่คลิปของเขา ที่ถือป้ายอยู่ข้างถนน คลิปนั้นปรากฎภาพของเขาหลังมีการทักทายจากคนที่ขับรถและแวะหาเขา ทำให้เขาได้เปล่งเสียงสวรรค์ออกมา เขาพร้อมใช้น้ำเสียงนั้นให้เป็นประโยชน์โดยทันที เสียงนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น และสมกับชื่อเสียง Golden Voice จริงๆ

เขาเริ่มเล่าผ่านคลิปดังกล่าวว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากเสียงผู้ประกาศในวิทยุช่วงที่เขาออกทัศนศึกษาตอนอายุ 14 ปี มันคือเสียงที่โดดเด่นและเขาไม่เคยได้ยินมาก่อน และเขาก็เล่าว่าแอลกอฮอลล์และยาเสพติดได้ทำลายชีวิตของเขาเรียบร้อยแล้ว เขาพยายามอย่างหนักที่จะกลับเข้าสู่จุดรุ่งเรืองในการใช้เสียงทองคำของเขาอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ (ขณะที่เขาเล่าอยู่ เสียงของเขาก็ยังทุ้ม นุ่ม และมีความโดดเด่นแบบที่หาใครเทียบได้ยากจริงๆ)

หลังจากคลิปดังกล่าวเป็นไวรัลออกไป งานทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้าสู่ชีวิตเขาอีกครั้ง เขาบอกว่า นี่คือโอกาสครั้งที่สองสำหรับชีวิตเขา และเขาก็มองว่ามันดีขึ้นมาก เขาได้ทำงานร่วมกับนักเขียนจาก The New York Times เพื่อเล่าประวัติของเขาออกเป็นหนังสือชื่อ “A Golden Voice” และกลายเป็นผู้พากย์เสียงแคมเปญในทีวี และยังได้พากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่อง Houseless ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่โหดร้ายเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนนด้วย และยังมีงานใช้เสียงอีกมากมายที่ถาโถมเข้ามา

ชีวิตของ Ted Williams กลับเข้าสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง เขาไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านการสูญเสียมามากและติดหล่มในชีวิตเป็นสิบปีจะกลับมาสู่หนทางปกติได้ แต่เขาก็สามารถทำได้ แม้จะผ่านความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม ปัจจุบันเขาอายุ 66 ปีแล้ว และยังคงรักในการใช้น้ำเสียงจัดรายการผ่านช่องทางทั้ง YouTube และ TikTok ภายใต้ชื่อเขาเอง Ted Williams

Unilad บอกว่า “ชีวิตของเขานั้น เมื่อถึงจุดตกต่ำถึงขีดสุดแล้ว มันไม่มีทางไปต่อ สุดท้ายมันจะต้องปีนกลับขึ้นมาเอง” แน่นอนว่า การกลับขึ้นมาจากหลุมลึกนั้น น่าจะผ่านการพยายามเคี่ยวเข็นตัวเองให้ขึ้นมาจากจุดต่ำสุด ครั้งแล้ว ครั้งเล่า แต่ละครั้งก็ทำญาติมิตรเพื่อนพ้องหล่นหายไปจากชีวิตบ้างไม่มากก็น้อย จนหลายๆ คนอาจถอดใจ แต่เพราะ Ted ยังไม่ถอดใจ เราจึงได้เห็นการเด้งกลับขึ้นมามีชีวิตรุ่งเรืองของเขาอีกครั้ง

Hit Rock Bottom จริงๆ แล้ว..เราควรปล่อยให้ชีวิตตกต่ำดำดิ่งถึงขีดสุดก่อน ถึงคิดจะเปลี่ยนแปลงหรือ?

ในทางจิตวิทยาแล้ว นักปรัชญา Peg O’Connor จาก Gustavus Adolphus College ผู้สนใจศึกษาเรื่อง Feminist, Moral, Wittgenstein และ Addiction พูดถึงเรื่อง Hit Rock Bottom ที่คนมักจะตีความกันว่า ปล่อยให้ชีวิตตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อไม่มีทางไป มันจะเด้งขึ้นมาเอง

O’Connor มองเรื่องนี้ได้น่าสนใจว่า ผู้คนมักจะเชื่อว่า ถ้าเราเจ็บปวดมากพอ สูญเสียทุกอย่างมากพอ มันจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ แต่เอาเข้าจริง เธอมองว่า ความคิดที่ปล่อยให้ชีวิตตกต่ำถึงขีดสุดนั้นจริงๆ แล้วเป็นแนวคิดที่น่ากังวล เราควรจะเริ่มหาความช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นเจ็บปวด ดีกว่าจะปล่อยให้เป็นปัญหาที่สาหัสจนเกินเยียวยา

ในความคิดของ O’Connor เธอพยายามจะยกแนวคิด “Misery Threshold” หรือแนวคิดกำหนดเกณฑ์แห่งความทุกข์ยากซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่พัฒนาโดยนักปรัชญา นักจิตวิทยาที่ชื่อ William James โดยเปรียบเทียบว่าความทุกข์ทรมานของผู้คนเปรียบได้กับความเจ็บปวดทางกายภาพ

William James สนใจผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในด้านมืด ผู้คนที่อยู่ในด้านมืดนี้ส่วนใหญ่คุ้นเคยและรู้สึกว่ารับได้กับโลกที่เขาอยู่ แม้ว่าโลกที่เขาอยู่จะทำให้เขาทุกข์ทรมาน

บางคนอาจใช้ยาระงับความเจ็บปวดได้เมื่อได้รับความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางคนอาจจะกัดฟันยอมทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดดังกล่าวต่อไปและปฏิเสธที่จะรับการรักษาแม้ว่าจะเจ็บปวดอย่างสาหัสก็ตาม โลกที่พวกเขาคุ้นชินคือ “World sickness” คือคุ้นชินอยู่กับโลกแห่งความเจ็บป่วยของพวกเขาเอง James เองก็เข้าใจตัวเองจากความทุกข์ทนที่เขาเผชิญ เขาเข้าใจพยาธิวิทยาหรือสภาพและกลไกที่ทำให้เกิดความสิ้นหวัง ความโศกตรม การสูญสิ้นความหวัง

O’Connor มองว่า ผู้ติดยาเสพติดก็มีประสบการณ์ระดับเดียวกับ World Sickness นี้ มันเป็นความเจ็บปวดที่มากล้น หลากรูปแบบ บางคนทนได้มาก บางคนทนได้น้อย สภาวะความทนทานของผู้คนแตกต่างกัน แต่มนุษย์ทุกคนไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเจ็บปวดทุกรูปแบบ บางคนก็ปล่อยให้ความเจ็บปวดผ่านไปอย่างช้าๆ บางคนต้องสูญสิ้นทุกอย่าง ทั้งความหวัง ทั้งความสุขในการใช้ชีวิต ก็ยังทนได้ บางคนก็สามารถหยุดใช้ยาได้ก่อนจะสูญเสียงาน สูญเสียคนรัก หรือครอบครัว หรือแม้กระทั่งความฝัน

การยอมจำนนของผู้คนขึ้นอยู่กับเกณฑ์ความทุกข์ที่พวกเขารับได้ ผู้ที่มีเกณฑ์รับความทุกข์ยากได้ในระดับต่ำก็จะไม่สามารถทนทุกข์ทรมานได้ยาวนานและเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ขณะที่บางคนมีเกณฑ์ที่รับความทุกข์ยากได้อย่างสาหัส ไม่ยอมแพ้จนกว่าชีวิตไม่มีอะไรจะเสียแล้วจึงจะเปลี่ยนแปลง เหล่านี้สะท้อนถึงเกณฑ์รับความทุกข์ยากของแต่ละคนแตกต่างกัน

ในมุมมองของ O’Connor ไม่ได้ฟันธงว่าจริงๆ แล้วเราควรปล่อยให้ชีวิตดิ่งจนสุดทางแล้วค่อยคิดเปลี่ยนแปลง แต่กำลังกังวลว่าแนวคิดที่ปล่อยให้ชีวิตดิ่งจนสุดทางแล้วค่อยคิดเปลี่ยนแปลงต่างหากที่อันตราย มันไม่มีอะไรการันตีว่าคุณจะกลับมาสู่โลกปกติได้อย่างไร้ร่องรอยความเจ็บปวด และไม่มีอะไรการันตีเช่นกันว่า คุณจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้จริงๆ เมื่อคุณสูญสิ้นทุกอย่างแล้ว

ที่มา – Unilad, USA Today, AMPS Magazine, RTDNA, AP, Today, Steve TV Show, Ted Williams, กรมสุขภาพจิต, Psychology Today, The New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา