ทำไม นักธุรกิจไทย ต้องไปลุยประเทศจีน TeC พาไปสำรวจโอกาสและลู่ทางเปิดตลาด

ประเทศจีน มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แค่มณฑลเดียว หรืออาจจะเมืองเดียว ก็มีประชากรเท่ากับไทยทั้งประเทศแล้ว ดังนั้น หากสามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ คือโอกาสมหาศาลในการสร้างรายได้และการเติบโต เพื่อให้เห็นภาพนี้ชัดยิ่งขึ้น บริษัท เทค อี-บิสสิเนสเซ็นเตอร์ (Thailand e-Business Center) หรือ TeC ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ได้เปิดข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจในจีนได้อย่างน่าสนใจ

ภาพจาก Shutterstock

TeC ตั้งเป้าพาธุรกิจไทยลุยตลาดโลก เป้าหมายแรก “จีน”

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ TeC บอกว่า การทำธุรกิจต้องมองตลาดโลก ซึ่งเป้าหมายที่ต้องไปอันดับแรกคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตของ อีบิสสิเนส และอีคอมเมิร์ซสูงที่สุดในเอเชียกว่า 800 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น TeC จะเข้ามาสร้างธุรกิจแนวใหม่ ด้านคือ 1. Digital Work-Force การสร้างกำลังคนสำหรับธุรกิจดิจิทัล โดยนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและใช้ Global assessment อย่าง International Computer Driving Licence (ICDL) ซึ่งเป็นศูนย์สอบอย่างเป็นทางการระดับโลก โดย TeC ได้รับสิทธิ์ในการจัดสอบ 

2. Business Expansion การขยายธุรกิจยังต่างแดน ตั้งแต่การจัดการการเข้าพบเหล่าสมาคม บริษัท เพื่อเจาะตลาดจีนในเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น หังโจว, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เซินเจิ้นตงกวน และกวางโจว เป็นต้น 

3. E-Business & Technology Training การสร้างองค์ความรู้ให้กับธุรกิจเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลที่พร้อมจะก้าวสู่ต่างแดน อีกทั้งเทคยังเป็น AGCs – Executive Program Organizer ให้กับหลักสูตรของ Alibaba Business School ซึ่งเป็นเอกชนเจ้าเดียวในประเทศไทยในขณะนี้

เปิดภาพธุรกิจจีน กับ 5 ปัจจัยที่ธุรกิจไทยต้องรู้

หลายคนรู้ว่า จีน ก้าวไปสู่ความเป็น Cashless Society มากที่สุดในโลก โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จีนจะ Cashless แบบ 100% คือไม่รับเงินสดอีกแล้ว คำถามคือ วันนี้เป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น และธุรกิจไทยที่จะเข้าไปต้องทำอย่างไร

  1. New Retail หลายปีที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่อง Omni-Channel หรือ การผนวกออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่กำลังเกิดในจีน เรียกว่า New Retail หรือ การค้าปลีกรูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะเชื่อมออนไลน์กับออฟไลน์แล้ว ยังสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ทันสมัย, สะดวกสบาย รวมถึงมีลักษณะ Shop in Shop สรุปคือ เมื่อเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องรู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้าน
  2. Digital Lifestyle คนจีน จำนวนมากมีชีวิตแบบ Digital Lifestyle อย่างมาก นั่นคือทำทุกอย่างผ่าน Mobiel และ Internet
  3. No Cash คนจีน ใช้ WeChat Pay และ Alipay เป็นช่องทางหลักในการชำระเงิน และลดการใช้เงินสดลงไปเรื่อยๆ โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จีนจะเป็น Cashless Society 100%
  4. Blockchain ถือเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ซึ่งจีนจะผลักดันให้มีการใช้ Blockchain ใน FinTech และในทุกธุรกิจ แต่ไม่รวมเรื่อง Cryptocurrency ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในจีน
  5. Data และ Big Data หลายคนคิดว่าเรื่อง Data และ Big Data ถูกพูดถึงเยอะแล้ว แต่ในความหมายของจีน หมายถึง การต่อยอดไปสู่เรื่อง Analytics ไปถึง Machine Learning และ AI ในที่สุด

จะขายสินค้าในจีน ต้องทำอย่างไร

เป้าหมายหนึ่งของ TeC คือการหาธุรกิจไทยเข้าไปลุยตลาดจีน และช่องทาง e-Commerce เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง​เพราะ คนจีนอยู่บนโลกออนไลน์ 731 ล้านคน ซื้อของออนไลน์ประมาณ 448 ล้านคน มีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้น 759 พันล้านดอลลาร์ แต่จะเข้าไปทำธุรกิจได้ ต้องเข้าใจและรู้วิธีการ

ตลาด e-Commerce หลักในจีน ได้แก่ Alibaba ที่ครองตลาดแบบ B2B ขณะที่ B2C ประกอบด้วย Taobao, Tmall และ JD.com ซึ่งตลาด B2C นั้นใหญ่มาก แต่การจะเข้าไปขายในตลาดหลักทั้ง 3 แห่งได้ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ซึ่ง TeC สามารถช่วยให้คำปรึกษาได้

“Taobao เป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่จะแข่งขันได้ สินค้าต้องมีราคาถูก หรือมีความแตกต่างจริงๆ จึงจะอยู่รอดได้ ส่วน Tmall จะเน้นสินค้าแบรนด์ และใช้เวลาในการติดต่อประสานงานเข้าไปขาย 3-6 เดือน เช่นเดียวกับ JD.com”

สินค้าไทยอะไรขายดีในจีน แล้วจีนอยากได้อะไรในไทย

กุลธิรัตน์ เล่าให้ฟังว่า สินค้าที่คนจีนนิยมมาก เช่น ชุดเครื่องนอน โดยเฉพาะ หมอนยางพารา ได้รับความนิยมสูงมาก ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและของใช้ส่วนตัว รวมถึงผลิตภัณฑ์สปาของไทยก็มีชื่อเสียงอยู่มาก

สินค้าแฟชั่นที่มีความเฉพาะของไทย ก็ได้รับความสนใจ ปิดท้ายด้วยผลไม้อบแห้ง ผลไม้อบกรอบ แต่จะเข้าไปทำธุรกิจได้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์ มียอดขายขั้นต่ำ 10 ล้านบาทขึ้นไป และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าด้วย

ขณะที่ประเทศไทย เป็นเป้าหมายของธุรกิจจีน ในการหาตัวแทนเข้ามาทำการค้า หาโรงงานผลิต และศูนย์กระจายสินค้า โกดังสินค้า เพื่อกระจายในภูมิภาคนี้

เร่งสร้างบุคลากรดิจิทัล

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตแบบ e-Business ได้ คือ การสร้างกำลังคนด้านดิจิทัล ทาง TeC จับมือกับ JobBKK.com จะสร้างหลักสูตรพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย กว่า 20 แห่งในปีหน้า โดยจะเน้นหนักการสร้างความเชี่ยวชาญดิจิทัลบิสสิเนส หรือ skills ทางด้านอีคอมเมิร์ชที่ใช้กับสถานการณ์การค้าขายจริงถ่ายทอดกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป้าหมาย

เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจไทยยุคใหม่ขาดแคลนกำลังคนทางด้านนี้อย่างมาก จากสถิติกองวิจัยแรงงาน กรมการจัดหางานพบกว่า เด็กจบใหม่ ปี 2561 กว่า 400,650 คน ตกงานกว่า 180,000 คน และขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรหลักให้ตรงกับสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการแก่ตลาดแรงงานดิจิทัลได้ทันการเปลี่ยนแปลง คาดว่า TeC จะเข้าไปสร้างกำลังคนรองรับตลาดอีคอมเมิร์ชไทยได้ในกลางปีหน้ากว่า 1,000 คนเป็นอย่างน้อย

ในส่วนสุดท้ายของการขยายฐานธุรกิจนั้น ทาง TeC มีบริการจัดการเรื่องการตลาดดิจิทัลในประเทศจีนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดออนไลน์และเปิดช่องทางโซเชียล โดยเชื่อมต่อกับ Baidoo/Weibo การสร้างเนื้อหาการตลาดโดยบล็อกเกอร์ชื่อดัง หรือแม้กระทั่งการทำตลาดผ่านคนดังหรือ Influencers/Celebs ในประเทศจีน ซึ่งธุรกิจไทยทั้งส่วนส่วนอุปโภคและบริโภค หรือบริการต่างๆ สามารถเลือกใช้ช่องทางการตลาดแบบใหม่ได้ในทุกรูปแบบ โดยเทคจะมีผู้เชี่ยวชาญในจีน และเคยสร้างยอดขายให้เหล่าแบรนด์ดังในการขายบนอีคอมเมิร์ซจีนกว่า พันล้านหยวน หรือ กว่า 20,000 ล้านบาท เป็นต้น

 “ TeC มองว่า จีนเป็นประเทศที่น่าจับตามอง จากจำนวนประชากรที่มีสูง มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยจีนมีปริมาณสูงขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันหลักสูตรของTeC  เอง ได้รับการรองรับโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อให้จัด Training อย่าง Alibaba Business School ที่จะนำเหล่าผู้บริหารจีนในสาขาที่เชี่ยวชาญจริงๆ มาแนะนำให้รู้จักวิธีการซื้อขายและเข้าถึงการค้าแบบ e-Business และ e-Commerce มืออาชีพอย่างประเทศจีน ตลอดจน พันธมิตรทางธุรกิจของ TeC เองที่เล็งเห็นความสำคัญในการเติบโตของธุรกิจ e-Business อาทิ เช่น บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท จัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอท คอม และอีกมากมายที่ให้การสนับสนุน” นางสาวกุลธิรัตน์ กล่าวสรุป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา