ข่าวใหญ่ของปี เมื่อธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตจะควบรวมกัน และเร่งรัดให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
วันนี้ทั้ง 2 ธนาคาร กระทรวงการคลัง กับผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาอัพเดทความคืบหน้าแล้ว มีอะไรที่ชัดเจนขึ้นบ้าง?
-
ปิดดีล! ธนชาต-ทหารไทยประกาศควบรวมธนาคาร-เสร็จสิ้นภายในปี 2019
-
เมื่อแบงก์ควบรวม ธนชาต-ทหารไทย-กท.คลัง-ING ใครจะถือหุ้นใหญ่ในแบงก์เกิดใหม่?
-
ประเดิมควบรวมแบงก์ ธนชาตประกันภัยเพิ่มทุนฯเป็น 4,930 ล้านบาท เตรียมรับลูกค้าแบงก์ใหม่ 10 ล้านราย
ธนชาต-TMB เปิดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ เผยสโกเทียแบงก์มีสิทธิขายหุ้นในอนาคต
ข้อมูลจากงานแถลงข่าวในวันนี้ (9 ส.ค. 2562) ทาง ธนาคารทหารไทย และ ธนาคารธนชาตเปิดเผยสัดส่วนผู้ถือหุ้นในธนาคารใหม่หลังการควบรวมที่จะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2562 (เรียงลำดับตามผู้ถือหุ้นใหญ่) ได้แก่
- ING (ผู้ถือหุ้นเดิมจากธนาคารทหารไทย) 21.3%
- ทุนธนชาต หรือ TCAP (ผู้ถือหุ้นเดิมจากธนาคารธนชาต) 20.4%
- กระทรวงการคลัง (ผู้ถือหุ้นเดิมจากธนาคารทหารไทย) 18.4%
- สโกเทียแบงก์ หรือ BNS (ผู้ถือหุ้นเดิมจากธนาคารธนชาต) 5.6%
- ผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3%
ทั้งนี้คาดว่ากระบวนการควบรวมทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงกลางปี 2564 จากข้อมูลจะเห็นว่า สโกเทียแบงก์ ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นกว่า 48.9% ในธนาคารธนชาตลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นเหลือเพียง 5.6% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) บอกว่า ขณะที่ทั้ง 2 ธนาคารอยู่ระหว่างการควบรวม ทางสโกเทียร์แบงก์จะถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 5.6% ในระหว่างการควบรวมที่จะเสร็จสิ้นช่วงกลางปี 2564 และหลังจากนั้นก็มีสิทธิที่จะขายหุ้นออกไปในอนาคต
แต่ทางสโกเทียแบงก์ มีการเจรจาระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ สโกเทียแบงก์ แม้จะไม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว แต่ไม่สามารถเทขายหุ้นจนเกิดผลกระทบกับผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ ดังนั้นหากต้องการขายหุ้นจะสามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
TCAP ปรับโครงสร้างภายใน ฝั่ง TMB ต้องเพิ่มทุนเพื่อซื้อหุ้นธนชาต
สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP บอกว่า ขั้นตอนแรก TCAP จะได้เงินจากการขายหุ้นตัวธนาคารธนชาต 80,000 ล้านบาท และเพื่อควบรวมระหว่าง 2 แบงก์ ทาง TCAP ต้องซื้อหุ้นของบริษัทลูกจากธนาคารธนชาตกลับเข้ามาซึ่งจะใช้เงินราว 18,000 ล้านบาทได้แก่
- บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
หลังจากนั้นทาง TCAP จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากธนาคารทหารไทย 45,200 ล้านบาท และจะซื้อหุ้นของบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่นๆ จาก BNS อีกราว 12,000 ล้านบาท สุดท้ายแล้ว ทาง TCAP จะมีเงินทุนเหลือราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีแผนชัดเจนว่จะใช้อย่างไร
ด้านธนาคารทหารไทยหาเงินทุนราว 130,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นในธนาคารธนชาตเช่น การออกและเสนอขายตราสารหนี้ (20%ของเงินทุน) การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (80% ของเงินทุน) ที่จะเปิดขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นใหม่
แบงก์ใหม่จะใช้ชื่ออะไร ลูกค้าและพนักงานทั้ง 2 ธนาคารจะเป็นอย่างไรต่อไป?
สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP บอกว่า เรื่องชื่อใหม่ของธนาคารต้องรอคณะกรรมการพิจารณาอาจจะใช้เวลาสักพัก โดยชื่อธนาคารใหม่จะต้องสะท้อนคุณค่าของทั้ง 2 แบงก์
ฝั่งธนาคารธนชาตและธนาคารทหารไทยย้ำว่าลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้ เพราะก่อนการควบรวม (ปัจจุบัน-กลางปี 2564) ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารจะยังใช้บริการผ่านธนาคารที่มีอยู่ แต่หลังจากกลางปี 2564 ที่ควบรวมเสร็จสิ้น ลูกค้าจะสามารถใช้บริการทุกอย่างจากทั้ง 2 ธนาคารได้ทำให้ลูกค้าสะดวกยิ่งขึ้น
ส่วนพนักงานของทั้ง 2 ธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 19,000 คน หลังจากการโอนหุ้นเสร็จในเดือน ธ.ค. 2562 จะมี 2 ธนาคารแต่ 1 ทีมผู้บริหารและทีมงานที่จะช่วยกันวางแผนเรื่องการควบรวม ซึ่งช่วงกลางปี 2564 จะสร้างทีม Integration เพื่อให้การควบรวมราบรื่น ส่วนสาขาที่ปัจจุบันรวมทั้ง 2 ธนาคารมีอยู่ 900 สาขาหากมีพื้นที่ทับซ้อนอาจต้องเลือกสาขาใดสาขาหนึ่ง
ทั้งนี้ระหว่างการควบรวม ประพันธ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งธนาคารธนชาตควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย ก็ใช้คนทั้งหมดในการทำงาน ดังนั้นระหว่างการควบรวมที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้น ปลดพนักงานไม่ได้ และเมื่อควบรวมแล้วทั้ง 2 ธนาคารมีงานทับซ้อน 10% ทำให้พนักงานที่มีอยู่ต้องทำงานเพื่อดูแลลูกค้า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา