หลังจากทรง ๆ มาระยะหนึ่ง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผ่านศิลปินอินดี้ และค่ายเพลงหน้าใหม่ที่สร้างผลงานดีต่อเนื่อง รวมถึงการเข้ามาสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง
ทำให้ปี 2020 มูลค่าอุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตแตะ 1,400 ล้านบาท และเริ่มเห็นการวางแผนส่ง T-Pop ไปโลดแล่นในระดับโลกอีกครั้ง แต่มันจะสำเร็จหรือไม่ และมีใครบ้างเป็นผู้เกี่ยวข้อง ติดตามได้หลังบรรทัดถัดนี้
ความชัดเจนอีกครั้งของ T-Pop
กระแส T-Pop เริ่มมีความชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผ่านการเกิดขึ้นของ BNK48 วงไอดอลที่สร้างการรับรู้ไปทั่วประเทศ รวมถึง Black Pink วง Girl Group จากเกาหลีที่มีคนไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก ซึ่งจากความโด่งดังของทั้งสองวงนี้ ทำให้มีวงไอดอล กับ Boy & Girl Group เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก
ในทางกลับกัน 2-3 ปีที่ผ่านมา วงดนตรีอินดี้ กับศิลปินจากค่ายเพลงเล็ก ๆ ต่างทำผลงานดีกว่าเดิม เช่น Paradise Molam Bangkok International Band กับ Phum Viphurit โด่งดังจนไปขึ้นแสดงในเวทีโลก ส่วนในไทยมี Polycat, Safeplanet, Yellow fang และ TELEx TELEXs ที่ขยับตัวจากศิลปินเล็ก ๆ เป็นศิลปินเบอร์ต้น ๆ ได้
จุดนี้เองทำให้แผนการนำ T-Pop ไปเขย่าอุตสาหกรรมเพลงในระดับโลกเริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ผ่านการนำจุดเด่นเรื่อง ความหลากหลายทางดนตรี ที่ผสานเสียงเพลงระดับท้องถิ่น และสากลเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง
Workpoint กับการเข้ามาสนับสนุนในฐานะตัวกลาง
หนึ่งในบริษัทเอกชนที่เข้ามาสนับสนุน T-Pop คือกลุ่ม Workpoint ผ่านการพัฒนา T-Pop Stage รายการแสดงดนตรีรูปแบบใหม่ รวมถึงแอปพลิเคชัน T-Pop เพื่อช่วยกระตุ้นการรับรู้ และเป็นช่องทางใหม่ในการนำเสนอผลงานเพลงของศิลปินจากค่ายเล็ก, ค่ายใหญ่ รวมถึงศิลปินอิสระ
ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เล่าให้ฟังว่าวงการเพลงเกาหลีได้รับการพัฒนาจนสามารถค้นพบซาวนด์ของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์ไปขายทั่วโลก T-Pop เอง เมื่อถึงวันหนึ่งก็จะค้นพบซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ไปขายทั่วโลกได้เช่นกัน
T-Pop Stage จึงเหมือนเป็นตัวเร่งทำให้ทุกคนมาช่วยกันหาว่า T-Pop ต้อง “ป๊อป” ประมาณไหนที่จะถือเป็นมาตรฐานของเพลงไทยที่สามารถไป “ป๊อป” ในระดับสากลได้ ทั้งนี้ หากต้องการผลักดัน T-Pop ให้ประสบความสำเร็จเหมือนที่เกาหลีทำ รัฐต้องมีนโยบายผลักดัน T-Pop ให้สามารถไปได้เป็นมวลรวมเช่นกัน
CEA หน่วยงานรัฐที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้
ด้าน อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เสริมว่า องค์กรมีแผนที่จะใช้อุตสาหกรรมดนตรี และอุตสาหกรรม Creative Content (ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ การกระจายเสียง การพิมพ์ และเกม) เป็น Soft Power ในการใช้ Emotional Value เพื่อเพิ่ม Economic Value ให้ทุกอุตสาหกรรม
ไล่ตั้งแต่อาหาร ท่องเที่ยว และแพทย์แผนไทย รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ผ่านการผลักดันคอนเท้นต์ที่เป็นจุดแข็งของประเทศคือ Spiritual ซีรีย์วาย และ T-Pop สู่กลุ่มเป้าหมายในประเทศ CLMVT, อาเซียน, จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของโลก
เบื้องต้น CEA กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ในการใช้ T-Pop ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ประกอบด้วย
- ส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาของอุตสาหกรรมดนตรี
- สนับสนุนการเติบโตของ อุตสาหกรรมดนตรีทั้งใน และต่างประเทศ
- ยกระดับความสามารถในการ สร้างสรรค์ผลงานทางดนตรีให้ ก้าวทันโลก
- สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ขับเคลื่อนความหลากหลายของ ธุรกิจดนตรี
ในปี 2020 มูลค่าอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ ค่ายเพลงขนาดใหญ่, ค่ายขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตามด้วยศิลปินอิสระ ส่วน K-Pop ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เกาหลีเป็นตลาดดนตรีที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่าตลาดราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สรุป
T-Pop จะปังไม่ปัง ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของทุกภาคส่วน เพราะถึงศิลปินจะผลิตงานออกมาดีขนาดไหน แต่ถ้าช่องทางในการปล่อยเพลงไม่ไปถึงระดับโลก ก็ยากที่จะนำ T-Pop ไปโลดแล่นได้เหมือนญี่ปุ่น และเกาหลี ดังนั้นต้องติดตามกันว่า การสนับสนุนวงการเพลงไทยครั้งนี้จะทำให้ฝันในการไประดับโลกของ T-Pop เป็นจริงได้หรือไม่
อ้างอิง // Workpoint
อ่านข่าวเกี่ยวกับวงการเพลงเพิ่มเติมได้ที่นี่
- อุตสาหกรรมเพลงโลกกลับสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง รายได้เกิน 6 แสนล้านบาท เท่ายุคปี 2000
- หมดยุคอักษรพิมพ์ใหญ่? ศิลปินดังยุคนี้ตั้งชื่อเพลงด้วยอักษรพิมพ์เล็ก แม้ผิดหลักไวยากรณ์
- ดราม่าลิขสิทธิ์เพลง 6 อัมบั้มแรกของ Taylor Swift ถูกขายอีกครั้ง โดยนักร้องดังไม่รู้ตัว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา