หมดยุคอักษรพิมพ์ใหญ่? ศิลปินดังยุคนี้ตั้งชื่อเพลงด้วยอักษรพิมพ์เล็ก แม้ผิดหลักไวยากรณ์

หมดยุคการตั้งชื่อเพลงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ในช่วงปีที่ผ่านมาศิลปินหลายคนเลือกที่จะตั้งชื่อเพลงด้วยตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด แทนที่จะต้องขึ้นต้นแต่ละคำของชื่อเพลงด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ให้ถูกหลักไวยากรณ์

โดยปกติแล้วความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ การตั้งชื่อเพลงแต่ละคำจะต้องขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ก่อนเสมอ เช่น What Make You Beautiful ของ One Direction, We Are Never Ever Getting Back Together ของ Taylor Swift และ Break Free ของ Ariana Grande โดยเพลงเหล่านี้มีคำขึ้นต้น คำนาม และคำกริยา เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

ศิลปินในยุคนี้เลิกตั้งชื่อเพลงด้วยตัวพิมพ์ใหญ่แล้ว

แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาแนวโน้มการตั้งชื่อเพลงเปลี่ยนไป ไม่ได้อิงตามหลักไวยากรณ์ที่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว ศิลปินหลายๆ คนเลือกที่จะตั้งชื่อเพลงโดยใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด ไม่ได้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ในแต่ละคำอีกต่อไปแล้ว เช่น Ariana Grande ที่ตั้งชื่อเพลง thank u, next และ break up with your girlfriend, i’m bored โดยใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด โดยในอัลบั้มนี้มีเพียงเพลง NASA เท่านั้นที่เธอตั้งชื่อเพลงด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

ศิลปินอีกคนหนึ่งที่เลือกใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์เล็กทั้งหมดในเพลง คือ Taylor Swift ที่ตั้งชื่อเพลงใน 2 อัลบั้มล่าสุด คือ evermore และ folklore ด้วยตัวพิมพ์เล็กแม้แต่ชื่ออัลบั้มก็ไม่มีตัวพิมพ์ใหญ่เลย เช่น เพลง willow, champagne problems และ cardigan ต่างจากอัลบั้มก่อนหน้านั้นที่เลือกใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

นิตยสาร Quartz ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการตั้งชื่อเพลงดังจำนวน 200 เพลงแรกบน Spotify พบว่าในเดือนธันวาคม 2018 มีเพลง 8 จาก 200 เพลงเท่านั้น ที่ศิลปินตั้งชื่อด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ หรือตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด แต่ในปี 2019 พบว่าจำมีมากกว่า 30 เพลง ที่เลือกใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนวิธีการใช้ภาษาไปด้วย

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังว่าทำไมศิลปินในยุคนี้จึงเลือกตั้งชื่อเพลงด้วยตัวอักษรพิมพ์เล็กทั้งหมด นั่นคือ ศิลปินในยุคนี้เติบโตมาพร้อมๆ กับการส่งข้อความ และ Social Network อายุของศิลปินเหล่านี้ยังไม่มาก เช่น Ariana Grande ที่อายุ 26 ปี และ Taylor Swift ที่อายุ 31 ปี ซึ่งคนในช่วงอายุนี้ใช้เวลาไปกับ Instagram Twitter และ Snapchat การเลือกใช้คำในการตั้งชื่อเพลง จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมโดยตรง

เลิกสนใจไวยากรณ์ที่ไม่มีประโยชน์

คนในยุคนี้ส่วนมากจะปิดฟีเจอร์ Auto Correct ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง Auto Correct จะทำหน้าที่เปลี่ยนให้ตัวอักษรแรกของแต่ละคำกลายเป็นตัวพิมพ์ใหญ่โดยอัตโนมัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ Lauren Fonteyn เล่าว่า คนเริ่มหันมาไม่ให้ความสนใจกับหลักไวยากรณ์ที่ไม่มีประโยชน์มากขึ้น โดยใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่วัตถุประสงค์อื่นแทน เช่น การเน้นเสียง หรือการเสียดสี

นอกจากการตั้งชื่อเพลงด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดแล้ว การใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดใน Social Media อย่าง Twitter หรือแอปพลิเคชันส่งข้อความอื่นๆ ยังหมายถึงการเน้นความสำคัญของคำๆ นั้นก็ได้เช่นกัน เพราะ Social Media เหล่านี้ไม่ได้มีฟังค์ชั่นที่จะเน้นข้อความสำคัญ การเลือกใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหดมจึงกลายเป็นคำตอบ

ที่มา – Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา