16 ก.ย. รัฐเริ่มเก็บภาษีความหวาน แล้วผู้บริโภคจะชีวิตดีขึ้น หรือแค่กุศโลบายหาเงินเข้าประเทศ

ในที่สุดการะเก็บภาษีความหวานก็เกิดขึ้นจริงเสียที หลังกรมสรรพสามิตรออกมายืนยันว่าการเก็บภาษีประเภทนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 โดยมีจุดประสงค์เพื่อคืนสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในรัฐบาลชุดนี้

ภาพ pixabay.com

ไม่ว่าอะไรที่หวานก็โดนหมด

การเก็บภาษีความหวานโดยกรมสรรพสามิตรกำลังจะถูกบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 โดยตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณากฎหมาย และพ.ร.บ. ต่างๆ เพื่อสร้างความชัดเจนใหักับการจัดเก็บภาษีประเภทนี้ โดยสินค้าที่เข้าเกณฑ์เก็บภาษีแบบนี้จะเริ่มที่กลุ่มเครื่องดื่ม เช่นน้ำหวาน, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้ รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่

ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตร ยืนยันว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้ประกอบการเช่นกัน เพื่อหาทางออกในการเก็บภาษีความหวาน โดยเบื้องต้นต้องการให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มลดการใช้น้ำตาลให้เหลือต่ำกว่า 10 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มล. และหากยังใช้มากกว่านั้นอยู่ ก็จะโดนลงโทษด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม

ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตร

“16 ก.ย. 2560 คือวันเริ่มต้น เพราะเราก็มีคุยกัน และอยากให้ผู้ประกอบการปรับสูตรโดยลดน้ำตาลลงมาระยะหนึ่งแล้ว โดยตอนนี้ค่าเฉลี่ยของเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลอยู่ที่ 10 กรัมนิดๆ เช่นกลุ่มน้ำดำอยู่ที่ 10.6-10.6 กรัม/100 มล. และถ้าผู้ประกอบการลดลงไปเหลือ 4 กรัม/100 มล. ตามที่อย. กับกระทรวงสาธารณสุขต้องการก็จะดีมาก”

แต่ถ้าหวานโดยสารสังเคราะห์ไม่นับรวม

อย่างไรก็ตามกลุ่มเครื่องดื่มที่มีความหวานจากสารสังเคราะห์ เช่น Aspartame ที่อยู่ใน Coke Zero แล้วมีความหวานเกินค่าที่กำหนด จะไม่ถูกคิดภาษีเพิ่ม แม้จะเป็นสารอันตราย หากใช้เกินปริมาณที่กำหนดก็ตาม เพราะปัจจุบันมีสำนักงานอาหาร และยา (อย.) กำกับดูแลเรื่องการใช้สารเหล่านี้อยู่แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้ทดแทนความหวานได้เต็มที่

ภาพจาก Flickr ของ Mike Mozart

“ยืนยันอีกครั้งว่าจุดประสงค์ของเราคือต้องการให้ผู้ประกอบการปรับสูตรเท่านั้น ซึ่งการปรับก็ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดีขึ้นอัตโนมัติ เพราะบริโภคเครื่องดื่มที่หวานน้อยลง และหากผู้ประกอบการทำตามก็ช่วยให้พวกเขาเสียภาษีน้อยลงเช่นกัน แต่ถ้าใช้เกินก็ต้อง Penalty ด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งก็เป็นกระบวนการภาษีเหมือนกับการกระทำผิดอื่นๆ”

ภาพรวมตลาดเครื่องดื่ม 2 แสนล้านป่วน

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในปี 2560 จะมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่การเติบโตของตลาดก็มาจากกลุ่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล แต่การเก็บภาษีความหวานนั้น จะไม่ได้เก็บเหมือนภาษีเครื่องดื่มปกติที่คิดราคาหน้าโรงงาน เช่น 25% ของกลุ่มเครื่องดื่มโซดา และ 20% ของกลุ่มเครื่องดื่มอื่นๆ โดยจะเก็บภาษีจากราคาขายปลีกโดยเฉลี่ย ทำให้ไม่กระทบต่อราคามากนัก

สรุป

การเก็บภาษีความหวานน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดการใช้น้ำตาลลงเล็กน้อย แต่จุดประสงค์เรื่องการรักษาสุขภาพของคนไทยอาจช่วยอะไรไม่ได้นัก เพราะถ้าคนจะดื่มน้ำหวาน อย่างไรก็ดื่มอยู่ดี ที่สำคัญถ้าไม่อร่อย พวกเขาก็เติมน้ำตาลเองได้ ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาแบบนี้อาจไม่ใช่การแก้ที่ตรงจุดมากนัก การสื่อสารข้อมูลให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องสุขภาพน่าจะดีกว่า

ทั้งนี้ทางอย. มีการออกสัญลักษณ์ Healthier Choice ให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่ม หรืออาหารที่ลดหวานมันเค็มออกจากผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น แต่ที่สุดแล้ว การเก็บภาษีจากเรื่องนี้ประโยชน์สูงสุดน่าจะเป็นการหาเงินเข้าประเทศมากกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา