เมื่ออายุจริงและอายุในใจ ไม่ไปในทางเดียวกัน งานวิจัยชี้ คนอายุมากกว่า 25 รู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง

วันเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่มีหยุดพัก ทำให้เราทุกคนต่างมีอายุที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วินาที ‘อายุ’ ที่ว่านี้เลยค่อนข้างเป็นเรื่องของตัวเลข เป็นเหมือนหมุดหมายในแต่ละปีที่เราเอาไว้กำหนดว่า เรามีอายุเท่าไหร่ในปีนี้ แต่ก็ใช่ว่า เราจะใช้ชีวิตไปตามอายุบนปฏิทินของเราเสมอไป เมื่องานวิจัยพบว่าอายุจริงและอายุในใจ อาจไม่ไปในทางเดียวกัน

สอดส่องงานวิจัยของ David C. Rubin จาก Duke University และ Dorthe Berntsen จาก University of Aarhus ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2006 ในหัวข้อ ‘People over forty feel 20% younger than their age: Subjective age across the lifespan’ ได้พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของอายุจริงและมุมมองต่อชีวิตที่มีผลต่อความเชื่อในอายุของเราเอง โดยใช้ผลการสำรวจจากผู้คนกว่า 1,470 คน ในช่วงอายุ 20 ถึง 97

งานวิจัยพบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนที่อายุมากกว่า 25 ปี มักรู้สึกว่าพวกเขามี Subjective Age หรืออายุในใจ น้อยกว่าอายุจริง และอยู่ในช่วงที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนชีวิต มากกว่าการปฏิเสธอายุจริงไปเสียเฉยๆ เช่นเดียวกับผู้คนในช่วงอายุ 40 ปีที่ก็รู้สึกว่าตัวเองนั้นเด็กกว่าอายุจริงราว 20% ด้วยเช่นกัน

ในทางกลับกัน คนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี กลับรู้สึกคิดว่าพวกเขามี Subjective Age มากกว่าอายุจริง 

จากงานวิจัยนี้ ตัวแปรที่ส่งผลกับการรับรู้ Subjective Age นั้น มีทั้งเพศ รายได้ และการศึกษา ที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เหมือนกับว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งมีไม่ปล่อยให้ตัวเลขนำพาชีวิตเราไปไกลขนาดนั้นอีกต่อไป จึงไม่แปลกที่เรากลับยิ่งมีความรู้สึกเด็กกว่าอายุจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

อ้างอิง

https://link.springer.com/content/pdf/10.3758/BF03193996.pdf 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา