รำลึก 10 ปี Steve Jobs กับ 10 ข้อที่ Jobs ปฏิวัติโลกด้วย iPhone

วันนี้ (5 ตุลาคม 2021) เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของหนึ่งในซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยียุคใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่าง Steve Jobs ที่เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2011

ผลงานตลอดช่วงชีวิตของ Jobs แม้จะมีมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ Jobs ผลักดันออกมา แล้วไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จ แต่ยังพลิกโฉมหน้าวงการเทคโนโลยี พลิกโฉมรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร (Paradigm) ไปตลอดกาล อยู่ที่งานคีย์โน้ต MacWorld เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2007 จากการเปิดตัว iPhone รุ่นแรกที่ Jobs บรรยายว่าเป็น “มือถือที่ปฏิวัติวงการโทรศัพท์” ซึ่งในความเป็นจริง iPhone ไม่ได้แค่ปฏิวัติวงการโทรศัพท์ แต่ปฏิวัติวงการเทคโนโลยีไปสู่ยุคใหม่ ที่มีสมาร์ทโฟนเป็นแกนกลาง

สิ่งที่ Jobs ได้เริ่มและวางรากฐานเอาไว้ ยังคงส่งผลและถูกต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแม้แต่ Apple เองก็ยังประสบปัญหาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงจากสิ่งที่ Jobs ได้สร้างเอาไว้

บทความนี้จึงร่วมรำลึกถึง Jobs ด้วย 10 ประเด็นที่อดีตซีอีโอ Apple ได้สร้างเอาไว้ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Steve Jobs

1) ยกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มาไว้ในกระเป๋ากางเกง ปฏิวัติการสื่อสารและโทรคมนาคม

3 ประเด็นหลักที่ Jobs นำเสนอบนคีย์โน้ตเปิดตัว iPhone คือเป็นอุปกรณ์ที่ปฏิวัติการฟังเพลง ปฏิวัติวงการโทรศัพท์มือถือ และปฏิวัติวงการสื่อสารอินเทอร์เน็ต โดย Jobs เน้นย้ำว่า iPhone ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่พกพาได้

โทรศัพท์มือถือในยุคนั้น แม้จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ แต่ค่อนข้างจำกัดมาก ไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือให้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีมากนัก การมาถึงของ iPhone ที่มีเว็บเบราวเซอร์และแอปพลิเคชันในตัว ได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปแบบพลิกโฉมหน้า จนนำไปสู่การพลิกโฉมของวงการโทรคมนาคมอีกทอด

Ericsson บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม เคยออกรายงานในปี 2012 ด้วยว่า ปริมาณการใช้ “ดาต้า” ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เริ่มแซงปริมาณการใช้ “เสียง” นับตั้งแต่ปลายปี 2009 ก่อนที่ปริมาณ “ดาต้า” จะพุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณและทิ้งห่าง “เสียง” ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา 

ถามว่าทุกวันนี้ โปรมือถือที่โทรฟรีเดือนละ 200-300 นาที เราโทรกันจริงๆ สักกี่นาทีเชียว ถ้าไม่ได้ทำงานเซลส์

iPhone
Male hand holding a 1st generation iPhone with the main display turned on. Originally released June 2007. January 21, 2021. San Francisco, CA. – Shutterstock

2) Touch Screen ปฏิวัติการสั่งการอุปกรณ์รอบตัว

ถึงแม้ iPhone จะไม่ใช่โทรศัพท์เครื่องแรกที่มีหน้าจอทัชสกรีน เพราะ IBM เคยออกโทรศัพท์ (จริงๆ คือเครื่อง PDA) IBM Simon ที่มีหน้าจอระบบสัมผัสมาตั้งแต่ปี 1994 และถูกยกให้ในภายหลังว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรก

แต่สิ่งที่ iPhone แตกต่างและพลิกโฉมการใช้ระบบสัมผัสในการสั่งการ คือความง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน รวมถึงเพิ่มลูกเล่นในการสั่งการโทรศัพท์ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเสียงฮือฮาและความตื่นเต้นจากผู้เข้าร่วมงานในคีย์โน้ตเปิดตัว iPhone ช่วงที่ Jobs โชว์การซูมภาพด้วยการใช้ 2 นิ้วถ่างออก (pinch) เป็นภาพสะท้อนของการปฏิวัติการสั่งงานอุปกรณ์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

iPhone

ทุกวันนี้ทัชสกรีน แทบจะเป็นระบบสั่งงานขั้นพื้นฐานของอุปกรณ์รอบตัวเราไปแล้ว ตั้งแต่แท็บเล็ต, แล็ปท็อป, นาฬิกา, ลำโพง หรือแม้แต่ตู้เย็น

3) ปฏิวัติการถ่ายภาพให้เรามีกล้องดีๆ ติดตัวไปทุกที่

อาจบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นของยอดขายกล้องดิจิทัลที่ตกลงก็มาจาก iPhone นี้เอง ที่ทำให้อุปกรณ์ถ่ายภาพเหลือเพียงขนาดเท่าฝ่ามือ และพกพาไปได้ทุกที่ ก่อนจะถูกตอกย้ำด้วยแอปแต่งภาพและโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ใครๆ ก็เป็นตากล้อง (มือสมัครเล่น) ได้ แถมทุกวันนี้จุดที่วงการสมาร์ทโฟนยังแข่งขันกันอยู่อย่างดุเดือดก็คือเรื่องกล้องนี่แหละ

ตัวเลขรายงานจาก Camera & Imaging Products Association ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทกล้องแถวหน้าอย่าง Olympus, Canon, Sony, Nikon ชี้ว่ายอดขายกล้องดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 ที่ตอนนั้นมียอดขายรวม 121.5 ล้านชิ้น ตกลงมาเหลือเพียง 8.8 ล้านชิ้นเมื่อปี 2020 หรือหายไปราว 92.7%

Mobile Camera
ภาพจาก Pixabay

4) App Store กับการปฏิวัติการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์

iPhone มีส่วนสำคัญที่ปฏิวัติรูปแบบการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์จากเดิมที่มีทั้งซื้อแผ่นจากหน้าร้านเอามาลงเครื่องพีซีหรือดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต ให้อยู่ในรูปของการดาวน์โหลดและติดตั้งผ่าน App Store ช่องทางเดียว

เดิมการติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนพีซี เราอาจกังวลเรื่องไวรัส เรื่องมัลแวร์หากไม่ใช่ซอฟต์แวร์แท้ที่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Adobe หรือ Microsoft แต่ App Store ได้สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้งานซอฟต์แวร์ ไปพร้อม ๆ กันผ่านนโยบายการควบคุมและตรวจสอบแอปอย่างเข้มงวดของ Apple แบบระบบปิด ทำให้ผู้ใช้งานกล้าที่จะโหลดแอปจากนักพัฒนาที่ไม่รู้จักโดยไม่ต้องกลัวเรื่องไวรัสหรือมัลแวร์

แม้เรื่องนี้ Apple จะถูกมองว่าผูกขาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้การหาซอฟต์แวร์หรือเกมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย เป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะบนสมาร์ทโฟนหรือพีซี (Play Store หรือ Steam เป็นต้น)

App Store
ภาพจาก Shutterstock

5) ปฏิวัติอุตสาหกรรมเกม เมื่อเกมมือถือเติบโตแซงหน้าเกมพีซีและคอนโซล

อาจบอกไม่ได้เต็มปากว่า iPhone ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกมโดยตรง แต่มันคือจุดเริ่มต้นที่ส่งผลเป็น butterfly effect ที่ทำให้เกมบนแพลตฟอร์มโมบายล์ (สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนค่อยๆ เติบโตและแซงตลาดเกมเก่าอย่าง เกมบนพีซีหรือคอนโซล

เพื่อให้เห็นภาพ รายงานเมื่อปี 2017 จาก DFC Intelligence บริษัทวิจัยตลาดระบุว่าปี 2016 เป็นปีแรกที่รายได้ของอุตสาหกรรมเกมมือถือแซงหน้ารายได้จากเกมบนพีซีและคอนโซล

ส่วนตัวเลขล่าสุดจาก Newzoo บริษัทวิจัยตลาดอุตสาหกรรมเกมคาดว่าปีนี้ รายได้ในอุตสาหกรรมเกมรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.75 แสนล้านเหรียญ โดยส่วนแบ่งของเกมมือถือจะอยู่ 52% หรือราว 9 หมื่นล้านเหรียญ

Mobile Games Market
Image courtesy of Newzoo

6) ปฏิวัติพฤติกรรมการมองจอ กระทบวงการสื่อปรับมาออนไลน์

แม้ Jobs จะโชว์บนคีย์โน้ตการดูหนังที่ไหนก็ได้ผ่านสมาร์ทโฟน แต่เจ้าตัวก็อาจจะไม่ได้คิดว่าในท้ายที่สุดแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเราๆ จะเปลี่ยนไปจนทำให้รายการทีวีแบบเดิมๆ ถูกเปิดดูน้อยลงกว่าเดิม และถูกแทนที่ดูการดูวิดีโอออนไลน์บนมือถือหรือแท็บเล็ต

ตัวเลขจากรายงานของ Zenith บริษัทเอเจนซี่และวิจัยด้านสื่อระบุว่า ผู้บริโภครับชมวิดีโอออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 32% ในช่วงปี 2013-2018 และจำนวนนาทีเฉลี่ยที่คนชมสื่อออนไลน์ต่อวันอยู่ที่ 100 นาทีเมื่อปี 2020 เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 84 นาทีเมื่อปี 2019

Apple iPhone

7) ปฏิวัติวงการฮาร์ดแวร์ ทำเองคุมเอง นักเลงพอ

Jobs มีวิสัยทัศน์มานานแล้วว่า Apple ควรจะพัฒนาและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีภายในฮาร์ดแวร์ของตัวเอง โดยเฉพาะชิปเซ็ต (ที่ประกอบไปด้วยซีพียู จีพียูและหน่วยประมวลผลอื่นๆ ในชิปเดียว) โดยแอปเปิลพัฒนาชิปเซ็ตใช้เองตั้งแต่ iPhone รุ่นแรก (รหัส APLxxxx) จนกระทั่งปี 2010 ที่ Apple เปิดตัวชิป A4 ของตัวเองเป็นครั้งแรกบน iPad และ iPhone 4

แม้ Apple จะไม่ใช่รายแรกที่ทำชิปเอง ก่อนหน้านั้น Motorola, IBM หรือ HP ก็เคยทำมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แตกต่างจาก Apple ที่ได้ฐานลูกค้า iPhone จำนวนมาก ทำให้บริษัทสามารถลงทุนด้านชิปเซ็ต ที่ค่อนข้างแพงและต้องการการสเกลจำนวนผลิต เพื่อลดต้นทุน ได้อย่างเต็มที่

การทำงานร่วมกันภายในของวิศวกรฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ผ่าน ชิป Apple A Series ทำให้แอปเปิลสามารถควบคุมเทคโนโลยีและประสบการณ์ใช้งานบนอุปกรณ์ทุกชนิดของตัวเอง ให้ออกมาดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างที่ตัวเองต้องการ และกว่า 10 ปีของการพัฒนาชิปเอง ปีที่แล้ว Apple ก็เอาประสบการณ์และประสิทธิภาพของการทำงานระหว่างฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์บน iPhone ขยับมาใช้บน MacBook แล้วด้วยชิป Apple M1 ที่ค่อนข้างสะเทือนวงการชิป โดยเฉพาะเจ้าตลาดอย่าง Intel

Apple A4 iPhone 4
ภาพจากงานเปิดตัว iPhone 4

8) ปฏิวัติวงการซอฟต์แวร์โทรศัพท์ ผลักดันให้เกิดคู่แข่งอย่าง Android

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือ iPhone เป็นจุดเริ่มต้นของวงการสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะเป็นตัวผลักดันให้เกิดคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออย่าง Android โดย Google ซื้อกิจการของ Android และเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2005 แต่การเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ทำให้ Android ที่กำลังพัฒนากันอยู่ตอนนั้น ต้อง “ยกเครื่องใหม่” ทั้งหมด เพราะรู้ตัวว่าสู้ iPhone ไม่ได้

Android
August 19, 2018 Mountain View / CA / USA – Android Pie sculpture located at at the entrance to Googleplex in Silicon Valley; Android 9.0 “Pie” is the newest version of the Android mobile OS; – from Shutterstock

9) ปฏิวัติภาพลักษณ์โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ใช้งาน แต่เป็นอุปกรณ์สื่อถึงสถานะทางสังคมและรสนิยม

iPhone ที่ Jobs เปิดตัวไม่เพียงแต่มีดีไซน์ใหม่เอี่ยมอ่องเทียบกับโทรศัพท์ในยุคนั้น แต่ด้วยดีไซน์ที่เรียบหรู และการกำหนดราคาของ iPhone ในแต่ละปี ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่มอง iPhone ไม่เป็นเพียงแต่โทรศัพท์ล้ำสมัยเครื่องหนึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นอุปกรณ์ที่เป็นตัวชี้สถานะทางสังคม และความหรูหราได้ในตัวมันเอง

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนคู่แข่งทุกวันนี้พยายามทำตาม แต่ยังไม่สามารถขึ้นไปในระดับเดียวกับ iPhone ได้ คือภาพลักษณ์ที่ Apple วางแบรนด์ตัวเองให้เป็นแบรนด์ฮาร์ดแวร์พรีเมียม หรูหรา ตรงนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่แฟนบอย Apple ส่วนหนึ่ง สามารถซื้อ iPhone เครื่องใหม่ได้ทุกปีหรือ 2 ปี ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงของตัว iPhone ก็ไม่ได้แตกต่างจากรุ่นเก่ามากนัก

iPhone 4

กล่าวอีกอย่างคือการซื้อ iPhone ของคนที่รักแอปเปิล มีความคล้ายคลึงกับการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมของสาวๆ เพราะไม่ได้ต้องการแต่กระเป๋าคุณภาพดีๆ เอามาใช้งาน แต่ต้องการภาพลักษณ์ ความหรูหราของแบรนด์ติดมาด้วย

10) ปฏิวัติตัวเอง จากบริษัทขายคอมพิวเตอร์ กลายมาเป็นบริษัทขายโทรศัพท์มือถือ

ในช่วงปี 2007 ของการเปิดตัว iPhone รุ่นแรก สัดส่วนรายได้หลักของแอปเปิลยังมาจากกลุ่มพีซีอย่าง Mac ตามด้วย iPod แต่นับตั้งแต่ปี 2010 ของการเปิดตัว iPhone 4 เป็นต้นมา รายได้หลักของแอปเปิลเปลี่ยนจาก Mac เป็น iPhone อย่างปีที่แล้ว สัดส่วนรายได้จาก iPhone คิดเป็น 50% ของรายได้ทั้งปีของ Apple และทำให้ Apple พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์และบริการต่างๆ โดยมี iPhone เป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด

Apple Product

สรุป

สิ่งที่ Steve Jobs ทิ้งเอาไว้ ไม่ใช่แต่การเปลี่ยนแปลงในแง่ธุรกิจของ Apple เองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นเป็นลูกโซ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเอง ไปจนถึงอุตสาหกรรมสื่อ เกมหรือแม้แต่กล้องก็เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
อุดมสิน ศรีสุชินวงศ์ | นักข่าว นักเขียน สนใจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยี