ต้นปี 2564 Fiat Chrysler Automobiles หรือ FCA และ PSA Groupe เจ้าของ Peugeot กับ Citroën ควบรวมกันเป็น Stellantis หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการควบรวมครั้งนี้คือการควบคุมต้นทุนต่างๆ ไม่เว้นห้องน้ำ
Stellantis ต้องมาพร้อมกับการคุมต้นทุน
เป้าหมายการเกิดขึ้นของ Stellantis ไม่ได้มีแค่การขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของโลก แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่นการร่วมมือกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ เพราะทั้ง FCA และ PSA ต่างไม่ได้ลงทุนเรื่องนี้มากนัก ที่สำคัญยังมีเรื่องควบคุมต้นทุนที่ทั้งสองบริษัทต่างมีปัญหาเช่นกัน
แม้ในการแถลง Stellantis จะยืนยันว่า ไม่มีการปิดโรงงาน และปลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง เริ่มมีพนักงานออกมาเปิดเผยถึงวิธีการควบคุมต้นทุนต่างๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องทำความสะอาด, การปรับเปลี่ยนระบบขนส่งมายังโรงงาน หรือกระทั่งการลดจำนวนห้องน้ำในโรงงาน
สมาชิกสหภาพแรงงานของ Stellantis รายหนึ่งชี้แจงว่า การลดต้นทุนนั้นดำเนินการโดยระดับผู้บริหารในแต่ละท้องถิ่น เช่นโรงงานใน Turin ประเทศอิตาลี ทีมผู้บริหารได้ลดจำนวนห้องน้ำที่ใช้ได้ พร้อมกับเลิกใช้บริการทำความสะอาด ส่วนที่ Atessa มีการลดค่าใช้จ่ายบริการทำความสะอาดถึง 35%
ทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานค่อนข้างกังวลว่าการลดค่าใช้จ่ายจะทำให้พนักงานเสี่ยงกับการระบาดของโรค COVID-19 และในอีกมุมหนึ่งของการควบคุมต้นทุนของกลุ่ม Stellantis คือการยกเลิกทำตลาดรถยนต์บางแบรนด์ที่ทับซ้อนในบางตลาด เช่น Peugeot ที่ยกเลิกแผนขายในสหรัฐอเมริกา และเน้นขาย Alfa Romeo แทน
สรุป
การควบคุมต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์ในเวลานี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การคุมต้นทุนจนกระทบต่อสวัสดิภาพของพนักงาน ก็อาจเป็นการทำที่เกินกว่าเหตุ และส่งผลกับอนาคตขององค์กรได้ ส่วนตัวจึงเชื่อว่า Stellantis น่าจะหาทางออการลดค่าใช้จ่ายที่ดีกว่านี้ในอนาคต เพื่อให้พนักงาน และธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
อ้างอิง // Motor1
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา