ชะตากรรม Chrysler ที่ไม่สดใส ภายใต้บริษัทใหม่ Stellantis

Stellantis บริษัทรถยนต์หน้าใหม่ที่เกิดจากการควบรวมของ 2 ยักษ์ใหญ่คือ Fiat Chrysler Automobiles (FCA) ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกัน-อิตาลี และ Groupe PSA จากฝรั่งเศส (Peugeot/Citroen) ในอัตราส่วน 50:50 เท่ากัน เริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2021 โดย Carlos Tavares ซีอีโอของ Groupe PSA จะรับหน้าที่เป็นซีอีโอของบริษัทใหม่

Stellantis จดทะเบียนบริษัทในเนเธอร์แลนด์ แต่จะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 3 แห่งคือ นิวยอร์ก มิลาน ปารีส ถือเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

การควบรวมกันของสองยักษ์ใหญ่ทำให้ Stellantis มีแบรนด์รถยนต์ใหญ่ในมือมากถึง 14 แบรนด์ ได้แก่

FCA เดิม

  1. Jeep (Chrysler เดิม)
  2. Ram (Chrysler เดิม)
  3. Dodge (Chrysler เดิม)
  4. Chrysler (Chrysler เดิม)
  5. Alfa Romeo (Fiat เดิม)
  6. Fiat (Fiat เดิม)
  7. Maserati (Fiat เดิม)
  8. Lancia (Fiat เดิม)
  9. Abath (Fiat เดิม)

Groupe PSA เดิม

  1. Peugeot
  2. Citroen
  3. DS Autos
  4. Opel (ซื้อจาก GM ปี 2017)
  5. Vauxhall (ซื้อจาก GM ปี 2017)

แบรนด์รถยนต์จำนวน 14 แบรนด์อาจถือว่ามากเกินไปจนบริหารจัดการยาก และซีอีโอ Carlos Tavares ก็เคยมีประวัติ “ฆ่า” แบรนด์ที่ไม่ทำเงินมาก่อนแล้ว

เว็บไซต์รถยนต์ MotorTrend ประเมินว่าในฝั่งของ FCA เดิม แบรนด์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดกลับเป็น Chrysler แบรนด์ที่เป็นชื่อบริษัทซะเอง และ Dodge ที่ยอดขายในประเทศแม่คือสหรัฐอเมริกาก็ยังถือว่าน้อย โดย Chrysler มียอดขายปี 2020 เพียง 1.1 แสนคัน และมีรถขายอยู่เพียง 2 รุ่นหลักๆ คือ Chrysler Pacifica กับ Chrysler 300 เท่านั้น

รถยนต์รุ่นที่ขายบนหน้าเว็บ Chrysler ณ เดือนมกราคม 2021

ส่วน Dodge ดีกว่ากันขึ้นมาหน่อยด้วยยอดขาย 2. 7 แสคันในสหรัฐ แต่จำนวนรถยนต์ที่ขายก็น้อยลงเช่นกัน แบรนด์ที่กลับแข็งแกร่งและทำกำไรได้ดีคือ Jeep และ Ram ที่มียอดขายเติบโตขึ้นด้วย

แบรนด์ฝั่งอิตาลี (Fiat เดิม) ที่ทำยอดขายได้แย่ในอเมริกาคือ Fiat, Alfa Romeo, Maserati ซึ่งก็ไม่น่าจะทำผลงานได้ดีกว่านี้มากนักในอนาคตอันใกล้

Chrysler ถือเป็นอดีตบริษัทรถยนต์ Big Three ของสหรัฐมายาวนาน (เคียงคู่กับ GM และ Ford) แต่ผลงานกลับแย่ที่สุดในบรรดาทั้งสามบริษัท ต้องผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เคยควบรวมกับ Daimler (Mercedes) เป็น Daimler-Chrysler อยู่ช่วงหนึ่งระหว่างปี 1998-2007 แล้วถูกขายทิ้งออกมาเป็นบริษัทอิสระ และล้มละลายในปี 2009 จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

Chrysler กลับมาคืนชีพด้วยเงินกู้พิเศษของรัฐบาลสหรัฐ (เช่นเดียวกับ GM ที่ล้มละลายในรอบเดียวกัน) แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จนถูก Fiat เข้ามาซื้อกิจการในปี 2014 กลายเป็นบริษัทลูกของ Fiat ไปอย่างสมบูรณ์ (ภายใต้ชื่อ Fiat Chrysler)

เมื่อ Fiat ควบกิจการอีกครั้งกลับกลุ่ม Groupe PSA ในปี 2021 แบรนด์ Chrysler ที่เคยยืนยงมายาวนาน อาจไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้

ที่มา – MotorTrend

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา