จบกัน Startup ไทย เมื่อทุกอย่างไม่เอื้อให้เติบโต ก็ถึงเวลาย้ายบ้านไปสิงคโปร์

ภาพจาก pixabay.com

หลังจากที่ สนช. ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. คอมพ์ กฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ ไม่ได้เป็นแค่ร่างอีกต่อไปแล้ว Brand Inside มีโอกาสคุยกับ Startup ในวงการหลายคน ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมุมของธุรกิจ ภายหลังการการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหลายคนมองว่าแค่ทำธุรกิจโดยสุจริตตามปกติ ไม่น่ามีปัญหาอะไร

แต่ความจริงแล้ว ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับใหม่ และ Econsystem โดยรวมของไทย ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของ Startup (และอาจเป็นอุปสรรคด้วย) ทำให้สิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้นกับ Startup ไทย

1. Startup ทุกประเภท โดยเฉพาะที่มีผลมากที่สุดคือ สาย FinTech มีแนวโน้มจะย้ายบริษัทออกไปจดทะเบียนต่างประเทศ มีเป้าหมายคือ สิงคโปร์ และ ฮ่องกง (ส่วนใหญ่น่าจะเป็นสิงคโปร์) กันอย่างแน่นอน

2. เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าสิงคโปร์ให้การสนับสนุน Startup อย่างเต็มรูปแบบ ปรับแก้กฎระเบียบ ให้ความสะดวกสบาย และมีนโยบายส่งเสริมเพียบ ตั้งแต่เริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทใช้เวลาไม่ถึง 1 วัน ได้รับการยกเว้นภาษี (และมีอัตราภาษีต่ำที่สุดในเอเชีย) รัฐบาลให้สิทธิพิเศษอีกมากมาย

ภาพจาก Pixabay.com

3. สิ่งที่มีผลกระทบยิ่งกว่า คือ เรื่องของใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ FinTech ที่สิงคโปร์มีมาตรฐานสูงมาก ได้รับการยอมรับจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นหากเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ และได้รับการรับรองจากสิงคโปร์ โอกาสขยายธุรกิจในประเทศต่างๆ จึงง่ายมาก เพราะสามารถเทียบมาตรฐานได้เลย

4. ประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดีพอสมควร แต่ปัญหาคือ การยอมรับจากต่างประเทศยังเป็นรองสิงคโปร์อยู่มาก ดังนั้นหาก FinTech ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากไทย จึงดำเนินการต่างๆ ได้อย่างจำกัดมากกว่า ดังนั้นไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ จึงดีกว่า

5. ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อมั่น และน่าเชื่อถือ จากทั้งตัว Startup และจากกฎระเบียบต่างๆ ในไทย เมื่อ พ.ร.บ. คอมพ์ ฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาเรียบร้อย ซึ่งมีประเด็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญมาก จึงกระทบกับความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ทั้งผู้ใช้บริการและนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

6. ปกติ Startup เก็บข้อมูล และพัฒนาบริการอยู่บน Cloud ในต่างประเทศกันอยู่แล้ว จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.บ. คอมพ์ ฉบับใหม่ แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า ปัญหาคือ ความเชื่อมั่น หากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทย (ซึ่งใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับนี้) ผู้ใช้บริการจะมีคำถามถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลทันที

7. นอกจากผู้ใช้บริการแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับ Startup คือ นักลงทุนหรือ VC จะคิดหนักทันทีและอาจตัดสินใจไม่ลงทุนใน Startup ไทยได้ และหากมองในระดับมหภาค การที่ไทยจะสนับสนุนให้เกิด Ecosystem ในประเทศ ต้องดึงดูดนักลงทุนมาไทย กฎหมายที่กระทบกับสิทธิส่วนบุคคล ย่อมเป็นอุปสรรคที่นักลงทุนจะมา

8. เดิมประเทศที่โดดเด่นสำหรับ Startup สาย FinTech เช่น ลอนดอน, นิวยอร์ค, ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบัน สิงคโปร์ ถือว่าโดดเด่นแซงหน้าฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความเอาจริงเอาจังของรัฐบาล

9. ไม่น่าแปลกใจถ้าต่อไปประเทศไทยจะมี Startup ไทย ที่จดทะเบียนบริษัทอยู่สิงคโปร์ สามารถระดมทุนและสร้างรายได้ แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอยู่กับสิงคโปร์ เช่น กองทุนต่างๆ จัดตั้งที่สิงคโปร์, เม็ดเงินต่างๆ อยู่ที่สิงคโปร์ รวมเป็น Ecosystem ทีสมบูรณ์ที่นั่น

10. ต่อให้ Startup ไทย ที่จดทะเบียนบริษัทในไทย เพราะต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า Startup ไทยมีความสามารถทัดเทียมกับ Startup ประเทศอื่นๆ และอาจจะเก่งกว่าด้วย แต่สุดท้ายเมื่อทุกอย่างไม่เอื้ออำนวย ทางออกก็คือ ต้องจดทะเบียนบริษัทที่ต่างประเทศ

ภาพจาก Startup Thailand

สรุป

ผลกระทบใหญ่ที่สุดสำหรับ Startup รวมถึงบริษัทธุรกิจต่างๆ คือ เรื่องความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ผู้ใช้บริการ และนักลงทุน ซึ่งถือเป็นหัวใจของ Startup ที่ต้อง Scalibility ให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด เท่ากับว่า นอกจาก Ecosystem ของไทยที่เป็นรองต่างประเทศอยู่มากแล้ว การมีกฎหมายใหม่ที่ออกมาฉุดโอกาสทางธุรกิจ (และเศรษฐกิจของประเทศ) โดยคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก ยิ่งทำให้เกิดอุปสรรค และขัดกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยตรง นี่ยังไม่นับถึงผลกระทบกับธุรกิจ ISP และธนาคาร ที่โดนไปเต็มๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา