สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ชี้ ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลไทย “ต้องทำงานให้เร็วและต่อเนื่อง”

ธนาคาร Standard Chartered มีมุมมองเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 นี้ โดยมองว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลไทยจะต้องทำงานให้เร็วและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเหลือเพียงแค่ 0.25%

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3 โดยเน้นไปที่เรื่องของ ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าต้องมีนโยบายที่รวดเร็วและต่อเนื่องจากทีมเศรษฐกิจของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ประกาศลาออกในวันนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนจากต่างประเทศก็สนใจนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนี้ว่าจะเป็นเช่นไร ภายใต้ผู้ว่าคนใหม่

นักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ชี้ว่า หลังจากปรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่นั้น ใครที่จะมาทำงานต่อจากอดีตรองนายกด้านเศรษฐกิจคนนี้ ต้องมีความต่อเนื่องจากทีมเศรษฐกิจของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์ของ COVID-19 นั้นก็ทำให้นโยบายต่างๆ ที่ออกมาก็ต้องรวดเร็ว

เขาเองได้กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เช่น EEC ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะต่างชาติเองจับตามองเรื่องนี้อย่างมาก และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของไทย ขณะเดียวกันเขายังแนะนำให้ติดตามดูพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะพร้อมจะเดินไปกับรัฐบาลนี้หรือเปล่า หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

ในเรื่องของนโยบายการเงินนั้น ทิม มองว่า มุมมองล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ดูเหมือนไม่อยากลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วเพราะเหลือกระสุนทางด้านนโยบายการเงินน้อยเต็มที และธนาคารแห่งประเทศไทยยังย้ำว่าอยากให้นโยบายการคลังจากรัฐบาลเป็นนโยบายหลัก นโยบายการเงินอยากให้เป็นการสนับสนุน

เรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เขามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.25% ซึ่งเขาชี้ว่ามุมมองของเขาอาจไม่เหมือนกับสถาบันการเงินอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่า นโยบายการคลังนั้นอาจไม่แน่ใจว่าต่อเนื่องหรือเปล่า จากการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยของตัวเลขทางเศรษฐกิจ อาจเป็นเหตุผลให้นโยบายการเงินเป็นผู้นำแทน

สำหรับนโยบายการเงินของไทยที่ดอกเบี้ยจะไปถึง 0% หรือดอกเบี้ยติดลบ เขามองว่าน่าจะเกิดได้ยากในเมืองไทย แต่ทุกอย่างในโลกย่อมเป็นไปได้ แต่ถ้าดูปัจจุบันเขากล่าวว่ายังมีโอกาสน้อยมาก

ทิม ยังได้กล่าวถึงผลสำรวจของนักลงทุนและบริษัทเอกชนต่างประเทศที่เป็นลูกค้าของธนาคาร นั้นอยากรู้นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนี้มากที่สุด คือ

  1. เมืองไทยจะทำนโยบายผ่อนคลายการเงิน (QE) รวมถึง การคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Yield Curve Control) หรือเปล่า
  2. ทองคำกับค่าเงินบาท ตอนนี้ไปทิศทางเดียวกัน จะทำให้ไม่ไปด้วยกันได้หรือเปล่า เพราะค่าเงินบาทแข็งมาก

คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย เขายังคงประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ถดถอย -5% เหมือนคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยปีนี้ในสิ้นปีจะแข็งค่าอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลจากเม็ดเงินจะไหลเข้าประเทศจากมาตรการ Travel Bubble และเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวในช่วงหลังจากนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ