Standard Chartered มองเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีถึงจะฟื้นตัวเท่ากับก่อน COVID-19

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มอง GDP ไทยในไตรมาส 2 อาจถดถอยได้มากถึง -13% อย่างไรก็ดีความกังวลจากสถาบันการเงินรายนี้ต่อเศรษฐกิจไทยนั้นอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่า 2 ปี

Suvarnabhumi Airport สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพจาก Shutterstock

Standard Chartered มีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยล่าสุดว่า ไทยน่าจะใช้เวลาอีกมากกว่า 2 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 แม้ว่าบรรยากาศเริ่มดีขึ้นในขณะที่ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดทำการ ขณะที่รัฐบาลได้ให้เงินช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนเมษายนแล้วก็ตาม

ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 นั้นธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -13% ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ -5% ก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2021 กลับมาเติบโตเล็กน้อยที่ 1.8%

เศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น Standard Chartered มองว่ามีความเป็นไปได้ 3 กรณี

  1. กรณีดีที่สุดของปีนี้ GDP ไทยจะถดถอยเพียงแค่ -3%
  2. กรณีฐาน GDP ไทยปีนี้จะอยู่ที่ -5%
  3. กรณีแย่สุดในปีนี้อาจได้เห็น GDP ไทยถดถอยมากถึง -10% ถ้าหากมีการระบาดของ COVID-19 รอบ 2

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ของ Standard Chartered ได้ให้มุมมองว่า “Sentiment ของนักลงทุนไทยไม่ได้ไปกับสภาพเศรษฐกิจจริงๆ เหมือนทุกอย่างไปข้างหน้า เริ่มเห็นธุรกิจเริ่มเปิดมากขึ้น ดูทุกอย่างเดินหน้า ชีวิตกลับมาเป็นเหมือนปกติทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ดีในภาพเศรษฐกิจจริงๆ ตัวเขาเองไม่แน่ใจด้วยซ้ำ เพราะไม่มีสัญญาณอะไรยืนยันว่าไตรมาส 2 คือเศรษฐกิจตกต่ำสุดของปีนี้”

เขาเองยังแนะนำให้รอดูตัวเลขการใช้จ่ายเดือนมิถุนายน หลังจากที่เดือนมีนาคมตัวเลขการใช้จ่ายติดลบครั้งแรกในรอบ 4-5 ปี ขณะเดียวกัน เขาอยากเห็นนโยบายการท่องเที่ยวในประเทศจากรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ส่วนไตรมาส 4 เขาคาดว่านักท่องเที่ยวชาวจีนหรือเอเชียจะกลับมา

ขณะที่การลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ทิม ได้ให้ความเห็นว่า “การลงทุนน่าจะฟื้นตัวในปีหน้าหรือหลังจากนั้น เพราะ COVID-19 น่าจะชะลอการลงทุนและโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนไปอีก ส่งผลให้เศรษฐกิจโตไม่เต็มศักยภาพ” เขาได้เสริมถึงเรื่อง EEC ที่เป็นพระเอกของรัฐบาลนี้ว่า “เงียบเกินไปในช่วงที่ผ่านมา”

ด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เขาได้ให้ความเห็นว่า ในการประชุม กนง. เดือนมิถุนายนน่าจะคงดอกเบี้ย เพราะไทยพึ่งลดดอกเบี้ยมาสดๆ ร้อนๆ แต่ในไตรมาส 3 เขาเองคาดว่าจะมีการลดดดอกเบี้ยแน่ๆ เพราะว่าเศรษฐกิจไม่โต เงินเฟ้อไม่โต ซึ่งจะเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ของปี ทำให้ไทยเหลืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25%

นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนี้ไป นักเศรษฐศาสตร์ ของ Standard Chartered ได้ให้มุมมองว่า “นโยบายการเงินของไทยอาจเดินหน้าไปที่ 0% หรืออาจไปถึงติดลบได้ มีความเป็นไปได้” แต่เขาได้ชี้ว่า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อคือไทยเองจะดำเนินนโยบายการเงินหลังจากนี้คือยังไง เพราะเหลือเครื่องมือทางการเงินไม่มากแล้ว และยังเป็นคำถามต่อหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผู้ว่าคนใหม่

นอกจากนี้เขายังชี้ว่า “ไทยอาจทำ QE (นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน) ได้ แต่ประเทศอื่นๆ คือทำ QE แล้วช่วยเศรษฐกิจเพราะบริษัทใหญ่ๆ เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยจริงๆ มาจาก SME แต่นโยบายมันไปไม่ถึง ตอนนี้อยากรู้ว่าเงินลงไปถึงรากหญ้าหรือเปล่า”

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยเขาได้ชี้ดังนี้

  1. จีนกับสหรัฐมีความขัดแย้งกับจีนที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับไทยเองไม่มีเกราะป้องกันกับเศรษฐกิจไทยอะไรเลย นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แถมยังมีความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล
  2. เรื่องการเมืองในสภา หรือแม้แต่การเมืองนอกสภา เห็นความไม่แน่นอนมากขึ้น
  3. การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่เหลือของปี โดยเขาเองกังวลจากความเสี่ยงจากแรงงานต่างด้าว เขาเองได้ยกกรณีของประเทศสิงคโปร์มา ซึ่งประเทศไทยเองไทยพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเยอะมาก เช่น การก่อสร้าง การผลิต การบริการ ซึ่งรัฐบาลไทยเองต้องให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ