Standard Chartered มองเงินเฟ้อคือประเด็นหลักเศรษฐกิจแดนมะกัน ส่วนจีนยังต้องรอดูนโยบายทางการเงิน

ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2560 โดย Standard Chartered ว่าเป็นอย่างไร มาคราวนี้ลองมาดูเศรษฐกิจในต่างประเทศกันบ้าง ว่าจะมีผลกระทบกับประเทศต่างๆ อย่างไร และใครคือตัวแปร

นโยบาย Trump ยังไม่ชัด ส่งผลเงินเฟ้อสูง

ถึงแม้จะรับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ Donald Trump ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกาก็สร้างเรื่องปั่นป่วนไปทั่วโลก ผ่านนโยบายที่ยังไม่มีความชัดเจน และเมื่อศึกษาไปที่ 3 เรื่อง เช่นนโยบายทางการค้า ก็ไปเน้นค้าขายในประเทศ และลดบทบาทการค้าในพื้นที่พรมแดนต่างๆ ลง ส่วนนโยบายการคลัง ก็เตรียมลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์แค่กลุ่ม SME เท่านั้น ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้างไม้ได้ ที่สำคัญนโยบายการเงิน ก็ต้องรอให้สภาคองเกรส และธนาคารกลางสหรัฐอนุมัติอีกด้วย ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์เรื่องหลังจากนี้ได้เลย

เอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจอาเซียน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองว่า จากความไม่แน่นอน ทำให้สหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง เพราะทั้งการลดมาตรการภาษี รวมถึงการให้การสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ นอกจากนี้กว่านโยบายต่างๆ จะประสบผลสำเร็จ และให้ประโยชน์แก่ประเทศจริงๆ คงต้องรอไปถึงปี 2561 ดังนั้นคงไม่แปลกที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งช่วงเดือนมิ.ย. และธ.ค. รวมถึงในปี 2561 อาจจะปรับขึ้นถึง 3 ครั้ง เพื่อสร้างเสถียรภาพในประเทศ และควบคุมเงินเฟ้อด้วย

จีนต้องเร่งขจัดหนี้เสีย – อาเซียนแชมป์โตเร็ว

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศจีนนั้น ด้วยปัญหาเรื่องภาระหนี้เสียขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้นโบายทางการเงินเพื่อควบคุมปัญหาจึงมีความจำเป็น โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ที่หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปอาจสร้างปัญหาระยะยาวให้กับประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินไหลออกจากประเทศจีน เพื่อไปลงทุนในที่ต่างๆ ทำให้รัฐบาลอาจใช้มาตรการใหม่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินให้กลับมาอยู่ในประเทศอีกครั้ง แต่ถึงจะเกิดปัญหามากมาย เศรษฐกิจจีนก็ยังสามารถเติบโตได้ 6.6% และปี 2561 ก็สามารถเติบโต 6.5% เพราะเริ่มได้หลักยึดที่มั่นคงแล้ว

ส่วนเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนนั้น ปัจจุบันยังครองแชมป์เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเช่นเดิม โดยมีเพียง 2 ประเทศคือสิงคโปร์ และมาเลเซียเท่านั้นที่เติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มนิ่งแล้ว โดยการเติบโตนั้นมาจากกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยประเทศที่เติบโตสูงคือ ฟิลิปปินส์, เวียนนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้เรื่องการส่งออกสินค้าต่างๆ ก็มีโอกาสกลับมาเติบโตได้ในปี 2560 เช่นกัน และถ้าเจาะมาที่ประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น และสหรัฐอเมริกายังเอาแน่นอนไม่ได้ ทำให้ค่าเงินบาทถ้าอ่อนสุดๆ ปีนี้ก็อยู่แค่ 36 บาท/ดอลลาร์ และปลายปีหน้าจะอยู่ราว 34 บาท

สรุป

เรื่องเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องรอความชัดเจนของสหรัฐอเมริกา เพราะหากทางนั้นประกาศนโยบายต่างๆ ออกมา แล้วสภาคองเกรสตีกลับ ก็เท่ากับว่าต้องไปเริ่มกันใหม่ ดังนั้นจากการวิเคราะห์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ จึงแสดงให้เห็นถึงอนาคตของจีน และอาเซียนที่ยังคงมีอยู่ ที่สำคัญยังสามารถเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรใหม่ๆ ได้ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา