ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยได้ปรับเป้า GDP ของไทยปีนี้ใหม่เหลือเพียงแค่ 3% จากเดิมที่คาดไว้อยู่ที่ 3.3% นอกจากนี้ธนาคารคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยได้ปรับเป้า GDP ของไทยปีนี้ใหม่เหลือเพียงแค่ 3% หลังจากที่ GDP ครึ่งปีแรกของไทยย่ำแย่กว่าที่คาด และไทยได้รับผลกระทบภายนอก เช่น สงครามการค้าสหรัฐและจีน ฯลฯ นอกจากนี้ธนาคารเองยังได้ปรับประมาณการ GDP ในปีหน้ามาอยู่ที่ 3.5% ด้วย
- ส่งออกไทยเดือนกรกฎาคมกลับมาโต 4.28% บวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้
- GDP ไทยไตรมาส 2 โต 2.3% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.7-3.2%
บทวิเคราะห์ของธนาคารยังได้คาดว่าสภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะดีกว่านี้ โดยได้ปัจจัยจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท (คิดเป็น 2% ของ GDP ไทย) จากรัฐบาล ซึ่งจะเน้นไปที่ประชาชนรากหญ้าโดยเฉพาะ
ขณะที่งบประมาณรัฐบาลในปี 2020 ที่ควรจะเข้าสู่เศรษฐกิจที่จากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปนั้นกลับช้าลงไปเป็นเดือนมกราคมในปีหน้าจะสร้างผลกระทบทำให้เม็ดเงินกว่าจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช้าลงไปอีกทอด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงงบประมาณในปี 2020 ที่รัฐบาลตั้งงบขาดดุลถึง 4.2% ของ GDP มากกว่างบประมาณในปีนี้
ทางด้านนโยบายการเงินของไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. น่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงอีก 0.25% อีกครั้งในการประชุม กนง. เดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.25% ภายในสิ้นปีนี้ และธนาคารคาดว่าจะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงปี 2020 หรือ 2021 ด้วยซ้ำ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการออกมารองรับเพื่อป้องกันเรื่องของเสถียรภาพทางการเงินจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำด้วย
สำหรับเรื่องของเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยที่ผ่านมาจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่านั้น ธนาคารคาดว่าหลังจากมีมาตรการออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตจากเรื่องของสงครามการค้า
นอกจากนี้ธนาคารยังคาดว่าโอกาสของไทยในการอัพเกรดเครดิตเรตติ้งขึ้นจาก BBB+/Baa1 ก็มีด้วยเช่นกันถ้าหากมีพัฒนาการเมืองที่ดี
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก Standard Chartered
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา