รู้จัก Stadium One ศูนย์รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับกีฬาที่ยกระดับพื้นที่หลังสนามศุภฯ ไปอีกขั้น

ดราม่า “สวนหลวงสแควร์” ที่บริหารโดยจุฬาฯ เล่นเอาใครๆ ขยาดที่จะเข้าไปรับช่วงพัฒนาพื้นที่ระแวกนั้น แต่ไม่ใช่กับชาย 4 คนดีกรีวิศวะลูกพระเกี้ยวที่กล้าพัฒนาโครงการ Stadium One แถมยังขายพื้นที่ได้เกือบทั้งหมดแล้ว

Stadium One // ภาพจาก Facebook ของ ANESSA Summer Run Presented by DONT

เปิดเป็นทางการ 26 พ.ค. หลังสร้างมา 1 ปี

เรียกว่าท้าทายเป็นอย่างมาในการพัฒนาพื้นที่ที่รับช่วงต่อมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุคนี้ เพราะเดิมที่พื้นที่เหล่านั้นก็คึกคักมาประมาณหนึ่ง แถมยังเป็นที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่ ดังนั้นการมาพัฒนาพื้นที่ย่านนี้จริงๆ จึงค่อนข้างแบกรับความเสี่ยง หรือพูดง่ายๆ ว่าทำดีก็แค่เสมอตัว แต่ถ้าพลาดขึ้นมาล่ะก็ยับเยินแน่ๆ

และเรื่องนี้ก็เป็นอีกขัอกังวลแรกๆ หลังบริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด ได้สัมปทานพื้นที่ย่านหลังสนามกีฬาศุภชลาศัยขนาด 10 ไร่จากจุฬาฯ ภายใต้สัญญา 7 ปี เพราะช่วงเริ่มหาผู้เช่านั้นมีเรื่อง “สวนหลวงสแควร์” เข้ามาพอดี ทำให้ค่อนข้างยากในการเจรจาผู้เช่ารายย่อยให้เข้ามาอยู่ในโครงการที่กำลังจะสร้างขึ้น

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย หนึ่งในผู้บริหารโครงการ Stadium One

พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย หนึ่งในผู้บริหารโครงการ Stadium One เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกค่อนข้างท้าทายในการขายพื้นที่เช่าค้าปลีก 5,000 ตร.ม. และบริเวณตึกเก่าโดยรอบ เพราะความเชื่อมั่นยังน้อย แต่สุดท้ายแล้วก็ผ่านมาด้วยดี เพราะก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 พ.ค. ก็มีผู้เช่าแล้ว 85% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด

ไม่หวั่นซ้ำรอย “สวนหลวงสแควร์” แน่นอน

“ตอนแรกผมไปขายกระดาษเปล่าก็มีแต่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่เห็นภาพ แต่ถ้าร้านย่อยๆ ที่เคยตั้งอยู่บริเวณหลังสนามศุภชลาศัยนั้นเขาก็ไม่เข้าใจ แต่เราก็พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าเราเป็นเอกชน ไม่ใช่จุฬาฯ และทำให้เราขายพื้นที่ได้มากขนาดนี้ และเชื่อว่ามันจะไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยสวนหลวงสแควร์แน่นอน”

บรรยากาศภายในสวนหลวงสแควร์ // ภาพจาก Facebook ของ Suanluang Square

และหากนับตั้งแต่ก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป้าหมายที่อยากเป็น Sport Destination ของ Stadium One ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการดึงร้านค้าอุปกรณ์กีฬารายย่อยบริเวณหลังสนามศุภฯ มาได้จำนวนหนึ่ง รวมถึง Studio ออกกำลังกาย และฟิตเนสขนาดใหญ่ 1 รายด้วย

นอกจากนี้เพื่อสร้างความครบครันในจุดเดียว ทางผู้บริหารจึงดึงร้านอาหาร Street Food ชื่อดังในย่านนั้นเข้ามาตั้งร้านภายในโครงการอีกด้วย ผ่านการจูงใจด้วยเรื่องที่จอดรถ และค่าเช่าพร้อมที่พักอาศัยด้านบนที่ไม่ได้สูงจนเกินรับไหวเมื่อเทียบกับพื้นที่เช่าเดิมนัก เริ่มต้นที่ 45,000 บาท/เดือน กับห้อง 3 ชั้น ขนาดชั้นละ 50 ตร.ม.

บรรยากาศภายใน Stadium One // ภาพจาก Facebook ของ ANESSA Summer Run Presented by DONT

ปูพรมระยะยาว หวังต่อสัญญาจุฬาฯ เพิ่ม

อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาสัญญาสัมปทานจากจุฬามีเพียง 7 ปี แต่โครงการ Stadium One มีการทุบตึกเดิมในพื้นที่นั้นไปจำนวนหนึ่ง เพื่อสร้าง Active Box หรืออาคารใหม่ 5 ชั้น ขนาดพื้นที่รวม 5,600 ตร.ม. แถมยังใช้งบลงทุนรวมทั้งหมดกว่า 200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาพื้นที่ 10 ไร่นี้ใหม่

“คนภายนอกอาจมองว่าเสี่ยง เพราะเราได้สัญญาบริหารพื้นที่แค่ 7 ปี แต่เมื่อจุฬาฯ เห็นว่าเราลงทุนขนาดนี้ แถมแผนแม่บทของจุฬาฯ ยังระบุว่า พื้นที่บริเวณนี้ต้องถูกพัฒนาเพื่อใช้เกี่ยวกับการกีฬาไปอีกระยะหนึ่ง เรื่องการต่อสัญญาบริหารพื้นที่ก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรนัก”

ด้านหน้าของอาคาร Active Box

สำหรับรายได้ในปีนี้ “เดอะ สปอร์ต โซไซตี้” คาดการณ์ว่าจะทำได้ราว 60-70 ล้านบาท โดย 95% มาจากค่าเช่า และเวลาที่เหลือก็ยังเป็นสัดส่วนนี้อยู นอกจากนี้เรื่องแผนการคืนทุนได้ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันก็มีคนในกรุงเทพรู้จักมากขึ้น และร้านอาหาร รวมถึง Studio ฟิตเนสต่างๆ ก็มีคนมาใช้บริการจำนวนมาก

สรุป

ภารกิจฟื้นพื้นที่ขายอุปกรณ์กีฬาย่านหลังสนามศุภฯ สู่ Sport Destination แห่งใหม่ที่มีที่เดียวในกรุงเทพ ก็ใกล้จะถึงเส้นชัยในระยะแรกแล้ว แต่ความท้าทายหลังจากนี้ก็ยังคงมีอยู่ เพราะเมื่อสร้างเสร็จ การจะดึงดูด และสร้างความรู้จักให้คนที่รักกาออกกำลังกายเข้ามาใช้บริการนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยทีเดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา