วัดใจ Stadium One อีกโครงการบนพื้นที่จุฬาฯ กับความท้าทายในอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ไม่ง่าย

Stadium One ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬาบริเวณถนนบรรทัดทองตัดพระรามที่ 1 แถมชูจุดเด่นเรื่องการรวมร้านค้าอุปกรณ์กีฬาที่เคยตั้งอยู่หลังสนามศุภฯ และเป็นสถานที่ออกกำลังกายมากมาย แต่แค่นี้จะดึงดูดคนย่านนั้นได้หรือไม่

จุฬาฯ ให้ที่ เอกชนลงมากกว่า 200 ล้านบาท

หลังจากนำพื้นที่ย่าานถนนบรรทัดทองตัดกับพระรามที่ 1 กลับคืนมา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เจ้าของพื้นที่ก็นำมาเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาบริหารพื้นที่ต่อ แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้ 4 ข้อตกลงคือ ต้องเป็นโครงการเกี่ยวกับกีฬาเท่านั้น, มีภูมิสถาปัตย์ที่ถูกต้อง, มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ และสุดท้ายจุฬาฯ ต้องได้รับผลตอบแทนด้วย

และระหว่างเปิดยื่นข้อเสนอก็มี 4 บริษัทเอกชนให้ความสนใจพื้นที่ขนาด 10 ไร่พื้นที่นี้ แต่สุดท้ายก็เป็น “เดอะ สปอร์ต โซไซตี้” ที่คว้าโปรเจคนี้ไป โดยตัวคณะกรรมการบริหารของผู้ชนะนั้นพื้นเพก็เป็นลูกพระเกี้ยวทุกคน ดังนั้นคงรู้จักพื้นที่นี้อย่างดี ทำให้การก่อสร้างทำได้รวดเร็ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย กรรมการบริหาร บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทได้สัมปทานพื้นที่นี้จากจุฬามาด้วยสัญญา 7 ปี เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ผ่านเงินลงทุนเบื้องต้นมากกว่า 200 ล้านบาท และที่เสร็จได้เร็วเพราะเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก และไม่ได้ทุบอาคารเดิมทิ้งไปทั้งหมด

ฟื้นตำนานแหล่งรวมร้านอุปกรณ์กีฬาของไทย

“Stadium One คือ Community Mall ที่เกี่ยวกับกีฬาโดยเฉพาะ ผ่านการมีทั้งร้านค้าอุปกรณ์กีฬาในย่านนั้น ทั้งที่เคยถูกยึดที่คืน และที่อยากมีความมั่นคงเรื่องตัวร้านมากขึ้น ประกอบกับมีร้าน Brand Shop ต่างๆ, ศูนย์บริการออกกำลังกายหลากรูปแบบ และร้านอาหารเก่าแก่ในย่านบรรทัดทอง ที่สำคัญห่างจาก BTS แค่ 200 ม.”

สำหรับตัวโครงการนั้นจะมีพื้นที่สำหรับร้านค้ารวม 5,000 ตร.ม. หรือ 129 ร้านค้า ถึงตอนนี้ถูกจองไปแล้ว 70% ของพื้นที่ทั้งหมด และก่อนเปิดให้บริการน่าจะได้ 90% และมีพื้นที่อีก 2,000 ตร.ม. สำหรับศูนย์บริการออกกำลังกาย และลานกิจกรรม One Arena (ทุบอาคารเดิมแล้วสร้างใหม่) ที่มีผู้จัดกิจกรรมกีฬามาติดต่อเช่าบ้างแล้ว

“เราไปคุยกับผู้เช่าเดิม ไม่ใช่ไปไล่ที่พวกเขา เพราะก่อนหน้านี้เขารอลูค้าเข้าหน้าร้าน ซึ่งมันไม่ใช่ในยุคนี้แล้ว ดังนั้นให้เรามาทำตลาดให้ดีกว่า และเราช่วยพวกเขาให้ขายได้ด้วย รวมถึงกลุ่มร้านอาหารที่มันไม่มีที่จอดรถ ก็ย้ายมาอยู่ในโครงการเราค่อนข้างเยอะ และยืนยันว่าไม่มีของละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนในอดีตแน่นอน”

4,000 คน/วันใช้บริการ ปีแรกรายได้ 100 ล้าน

ส่วนเป้าหมายของ Stadium One ในปีแรกอยู่ที่การดึงดูดผู้เข้ามาใช้บริการช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ 2,000-4,000 คน/วัน เน้นแบ่งคนออกกำลังกายจากสวนลุมพินีที่แต่ละวันมีกว่า 30,000-40,000 คน เพราะตัวโครงการใกล้กับอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ทำให้วิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นวันสุดสัปดาห์ตั้งเป้าที่หลักหมื่นคน/วัน เพราะจะมีกิจกรรมเข้ามาช่วยดึงดูด โดยปีแรกน่าจะรายได้เข้ามาที่ 100 ล้านบาท เกือบ 90% จะมาจากค่าเช่า ส่วนที่เหลือมาจากค่าโฆษณา และค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรม โดยค่าเช่านั้นตัวห้องที่อยู่ในอาคารเดิมจะเริ่มต้น 40,000-60,000 บาท/เดือน ส่วนที่อยู่ในอาคารใหม่อยู่ที่ 1,000 บาท/ตร.ม.

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดการดูแลสุขภาพนั้นเติบโตเฉลี่ย 8% ในประเทศไทย โดยปี 2558 อยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท และถ้าเจาะไปที่ตลาดอุปกรณ์กีฬาจะอยู่ที่ 37,000-38,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% ทุกปี แสดงให้เห็นตลาดสุขภาพมีโอกาสทางธุรกิจสูง และน่าจะเป็นอีกแรงขับทำให้ Stadium One เติบโตอย่างยั่งยืน

สรุป

การเข้ามาบริหารพื้นที่ของ เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ นั้นไม่ง่ายแน่ๆ เพราะถึงจะอยู่ติดรถไฟฟ้าเพียง 200 ม. และรวมสินค้าบริการที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายไว้มากมาย ผู้คนก็ยังคุ้นชินกับสถานที่เดิมๆ มากกว่า ดังนั้นถ้าสื่อสารข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายได้ไม่ดีพอ โอกาสที่จะเป็นเหมือนโครงการสวนหลวงสแควร์ก็มีสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา