คู่แข่งด้านอวกาศของ Elon Musk อาจไม่ใช่ Jeff Bezos หรือ Richard Branson แต่คือ “จีน”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอวกาศโดยเฉพาะการส่งดาวเทียมโดยใช้จรวดก้าวหน้าขึ้นตลอด โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนี้เราต้องจับตามองประเทศจีนหลังจากการสนับสนุนของประธานาธิบดีจีน ว่าบริษัทเหล่านี้จะอวดโฉมผลงานให้ชาวโลกได้เมื่อไหร่

ภาพจาก SpaceX

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวงการขนส่งอวกาศโดยเฉพาะการยิงจรวดส่งดาวเทียม ฯลฯ ผู้ที่มา Disrupt วงการนี้คือ SpaceX ของ Elon Musk ทำให้ภาคเอกชนในสหรัฐเริ่มวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะการยิงจรวดเพื่อการขนส่ง รวมไปถึงยังทำให้เกิดความคึกคักในวงการอวกาศอีกรอบ เช่น การส่งคนไปดวงจันทร์ การพยายามไปดาวอังคาร ฯลฯ

การที่ SpaceX เข้ามาทำให้ราคาค่ายิงจรวดเพื่อทำกิจกรรมทางอวกาศลดลงอย่างมหาศาล จากแต่เดิมต้องพึ่งพิงการยิงจรวดของรัสเซีย และเอกชนสหรัฐเองอย่าง ULA ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง Boeing และ Lockheed Martin รวมไปถึงองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ทั้งหมดที่กล่าวมามีราคาสูง และอาจต้องรอคิวเป็นเวลานานอีกด้วย

ข้อมูลจาก Euroconsult คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศอาจสูงได้ถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ใครๆ ก็อยากเข้าสู่วงการอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งดาวเทียม หรือพัฒนาในด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

Jeff Bezos ฉลองหลังการทดสอบ Blue Origin สำเร็จ – ภาพจาก Blue Origin

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การที่ SpaceX เข้ามาไม่ใช่แค่ทำให้องค์การอวกาศของแต่ละประเทศต้องขะมักเขม้นในการพัฒนาจรวด แต่ยังรวมไปถึงเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา NASA สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการขนส่งอุปกรณ์ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หรือแม้แต่โครงการส่งคนขึ้นไปอวกาศอีกรอบ ทำให้เอกชนสนใจลงทุนในโครงการเหล่านี้

การพัฒนาโครงการอวกาศของเอกชนรายอื่นๆ เช่น Blue Origin ของมหาเศรษฐี Jeff Bezos ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโครงการด้วยตัวเอง ซึ่งโครงการอวกาศของมหาเศรษฐีชาวสหรัฐนี้กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เพราะว่าพึ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทได้แค่ 4 ปี แต่สามารถทดสอบจรวดได้แล้ว แถมประสบความสำเร็จได้ด้วย ซึ่งทำให้สื่อคาดว่า Jeff Bezos คือคนที่จะมาล้ม Elon Musk ในเรื่องนี้

ภาพจาก Rocket Lab

ไม่ใช่แค่มหาเศรษฐีอย่าง Jeff Bezos ที่สนใจโครงการอวกาศ แต่มหาเศรษฐีผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คนอย่าง Richard Branson ก็กำลังพัฒนาโครงการอวกาศที่เน้นพานักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักไปท่องเที่ยวในชั้นอวกาศในโครงการอย่าง Virgin Galactic รวมไปถึง Virgin Orbit แม้ว่าล่าสุด Richard Branson จะประกาศชะลอการรับเงินทุนมูลค่ามหาศาลจากกองทุนความมั่งคั่งของประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากความคลุมเครือในคดีนักข่าวชาวซาอุฯ อย่าง Jamal Khashoggi ก็ตาม

นอกจากนี้อีกบริษัทที่น่าจับตามอง และมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันแล้วคือ Rocket Lab บริษัทจากสหรัฐ ที่มีฐานยิงจรวดที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเน้นส่งดาวเทียมขนาดเล็ก ที่สำคัญคือ “ราคาถูกมาก” ที่ปกติจะต้องฝากผู้รับยิงจรวดเจ้าใหญ่ๆ เช่น SpaceX หรือจรวดของรัสเซีย ซึ่งใช้เวลารอนาน และค่าส่งที่แพงกว่า แต่จรวดจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า และไม่ต้องใช้เวลารอนาน

อย่างไรก็ดี อนาคตหลังจากนี้ วงการอวกาศโลกอาจต้องจับตามองเมื่อนโยบายประเทศจีนเริ่มเปลี่ยนไป

ภาพจาก Landspace

เป้าหมายของจีนคือการส่งสถานีอวกาศให้ได้ภายในปี 2022 หลังจากการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายการผูกขาดการยิงจรวดดาวเทียมโดยภาครัฐ ในช่วงปี 2014-2015 ทำให้เกิดบริษัทเอกชนที่สามารถพัฒนาจรวดที่สามารถส่งดาวเทียมได้เหมือนกับรัฐบาลเช่นกัน

สำหรับการที่ประธานาธิบดีจีนได้อนุมัติเรื่องนี้เนื่องจากต้องการที่จะให้จีนลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากการรับผลิตอุปกรณ์อีเล็กทรอนิคส์ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ และพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนก้าวไปอีกขั้น ซึ่งการผลิตอุปกรณ์ในเทคโนโลยีอวกาศต้องใช้ความรู้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้มีเม็ดเงินสนับสนุนเอกชนอยู่ราวๆ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะว่ารัฐบาลสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ซึ่งวิธีการเหมือนกับที่ NASA ให้เงินสนับสนุนเอกชนของสหรัฐ มีบริษัทจีนสนใจด้านนี้กว่า 60 บริษัท

ล่าสุดเราจะได้เห็นบริษัทจีนที่ดังๆ ในด้านอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น Landspace ที่เน้นการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับสถานีโทรทัศน์เพื่อถ่ายทอดสด ที่พึ่งทดสอบการยิงจรวดเข้าสู่วงโคจร ในปีที่ผ่านมาสามารถระดมทุนได้ถึง 500 ล้านหยวน

นอกจากนี้ยังมีบริษัท OneSpace ก็เน้นการส่งดาวเทียมขนาดเล็กเช่นกัน Shu Chang ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทได้กล่าวว่าในอนาคตบริษัทของเขาเองก็จะเน้นการยิงจรวดขนาดใหญ่ขึ้นเหมือนกับ SpaceX ซึ่งบริษัทของ Elon Musk เป็นแรงบันดาลใจให้กับบริษัทอวกาศของจีนที่จะทำให้จรวดกลับมาใช้งานแล้วสามารถนำส่งดาวเทียมได้อีกรอบ

ต้องมารอดูกันว่าในอนาคตบริษัทของจีนเหล่านี้จะสามารถออกมาสู้กับบริษัทจากโลกตะวันตกได้หรือไม่

ที่มาReuters, Space News, Bloomberg, SpaceTH

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ