ยังไม่ทันจะข้ามปี ก็เริ่มคาดการณ์กันแล้วว่าเศรษฐกิจปีหน้า ปี 2564 แย่แน่นอน
Bilahari Kausikan อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ คาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2564 นั้น หลายคนมองแง่ดีและมีความหวัง แต่เอาเข้าจริงยังแย่อยู่
คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าปี 2564 ที่อีกไม่กี่วันกำลังจะข้ามปีแล้วน่าจะเป็นปีที่สภาพเศรษฐกิจมีความสดใสมากขึ้น แต่ความจริงแล้วอาจจะแย่กว่านั้น และความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะเป็นภูมิภาคหนึ่งในโลกที่จัดการโควิด-19 ระบาดได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น แต่ยกเว้นเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เราจะเห็นความล้มเหลวของการจัดการโรคระบาดนี้ทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ แม้จะมีการผลิตวัคซีนออกมาแล้วแต่ถ้ามีการจัดการที่ย่ำแย่ วัคซีนก็ไม่ช่วยอะไร
การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเกิดขึ้นแล้วในบางประเทศหลังจากที่หลายประเทศเหน็ดเหนื่อยจากการคุมโรคระบาดและ lockdown มานาน ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่สามารถปิดตัวหรือแยกตัวเองออกจากโลกได้ตลอดไป จึงเป็นความท้าทายที่ว่า เราจะอยู่กับโควิด-19 ระลอกสอง ระลอกใหม่ต่อไปได้อย่างไรโดยที่ประชาชนไม่ได้เสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบหนักจากโรคนี้ รวมทั้งจะประคองเศรษฐกิจอย่างไรให้ไม่พังจนกู่ไม่กลับ
บางประเทศรับมือได้ดี เช่นเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน แต่ความเป็นไปได้เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นความแน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพรัฐบาลแต่ละประเทศด้วยว่าจะมีความสามารถในการปรับตัวได้รวดเร็วระดับไหนในการรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การสอดรับกันระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและกฎเกณฑ์ ระเบียบ มาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในมิติซัพพลายเชนของโลกในระยะถัดไปก็ยังเป็นที่กังขากันอยู่ว่า อาเซียนจะสามารถผลักดันศักยภาพตัวเองเพื่อสร้างประชาคมเศรษฐกิจได้หรือไม่ กล่าวคือทำให้อาเซียนมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ เช่น ความสามารถในการเจรจาต่อรอง การสานประโยชน์ทางการค้า ฯลฯ เป็นต้น
ปัจจัยความสำเร็จของประเทศชาติและภูมิภาคคือการเมือง รัฐบาลต้องสามารถต้านทานต่อเศรษฐกิจแบบชาตินิยมได้ เรื่องเหล่านี้ยากกว่าการจัดการโควิด-19 ระบาด อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยต่างเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง
ขณะที่เวียดนามและลาวเตรียมประชุมพรรคในต้นปี 2564 มีแนวโน้มที่จะประคองตัวเองต่อไปไม่ผลีผลามแสดงจุดยืนที่เป็นอันตรายต่อประเทศ ภาพรวมของเมียนมาและฟิลิปปินส์ยังไม่แน่นอนเช่นเดิมโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2565 ด้านสิงคโปร์เองก็ต้องจัดการความรู้สึกของผู้คนให้ได้ในแง่ของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
การเตรียมเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่าง Joe Biden จะทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ให้น้ำหนักความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ RECP หรือ CPTPP ให้เห็นเด่นชัดนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาเซียนจะกลายเป็นกลไกสำคัญ เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองที่ผลักให้จีนเข้าสู่กรอบการเจรจามากกว่าใช้การตัดสินใจฝ่ายเดียวแบบที่เคยทำมา ดังนั้น การขึ้นมาของไบเดน จึงเป็นการกลับมาเกี่ยวพันกับพันธมิตรกลุ่มอาเซียนอย่างสร้างสรรค์อีกครั้งหลังร้างราไปสมัยโดนัลด์ ทรัมป์
นอกจากนี้ การขึ้นเป็นประธานอาเซียนรายถัดไปคือบรูไน มีแนวโน้มทำให้อาเซียนก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งในมุมของสหรัฐฯ ถ้าพิจารณาจากการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหมภายใต้ของสหรัฐฯ ทั้งสามคนเชี่ยวชาญด้านนโยบายและเกี่ยวพันแต่ตะวันออกกลาง ไม่ใช่เอเชีย เป็นไปได้ว่าอาจจะให้ความสนใจกับพันธมิตรหลักอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินเดียภายใต้กรอบทวิภาคี มากกว่าจะสนใจอาเซียนโดยตรง
- ไม่มีไทย ญี่ปุ่นเตรียมย้ายฐานการผลิตเกือบ 100 บริษัทออกจากจีนกลับญี่ปุ่นและไปอาเซียน
- หลายประเทศในอาเซียน “จัดการโควิดดี แต่เศรษฐกิจแย่ยาวนาน” ไทยสาหัสเพราะท่องเที่ยวพัง
- Nomura มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน การเมืองไม่แน่นอน อาจทำให้มีรัฐประหาร
นอกจากนี้การขึ้นมาของ Biden ภารกิจแรกที่ต้องทำคือจัดการโควิดระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่วนอาเซียนในมุมมองของสหรัฐฯ ก็คือพื้นที่ต่อกรกับจีน เพื่อกดดันจีนด้วยการให้ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีมากขึ้น ส่วนจีนนั้น ในมุมมองของอาเซียน จีนยังสำคัญต่ออาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่มากชนิดที่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถมาแทนที่ได้
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา