เกาหลีเปิดทางเด็กอาเซียนย้ายประเทศ เรียนม.ปลายฟรี อาจได้วีซ่าทำงานต่อ

จังหวัดคยองซังเหนือทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้คิดกลยุทธ์ใหม่รับมือปัญหาขาดแคลนแรงงานคนรุ่นใหม่ เปิดทางให้เด็กในอาเซียนเรียนมัธยมปลายฟรี เตรียมอยู่ทำงานต่อในอนาคต

จังหวัดคยองซังเหนือเปิดรับเด็กจำนวน 72 คนจาก 6 ประเทศในเอเชียเข้าเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนในจังหวัดที่จะเปิดเทอมในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า ประเทศที่สามารถเข้าไปเรียนฟรีได้ ได้แก่ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย กัมพูชา และจีน 

นักเรียนต่างชาติที่เข้าไปเรียนในคยองซังเหนือจะได้เรียนฟรีแต่ต้องออกค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างอื่นเองรวมถึงค่าหอพัก เหมือนกับนักเรียนในเกาหลีใต้ที่ได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปลายโดยไม่เสียค่าเทอมอยู่แล้ว

โรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการนี้มีทั้งหมด 9 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสายอาชีพที่สามารถอยู่ประจำในโรงเรียนได้ นักเรียนจากต่างประเทศที่จะสมัครเข้าเรียนจะต้องยื่นผลคะแนนระดับมัธยมต้นและคะแนนสอบวัดระดับภาษาเกาหลีจากรัฐบาล (TOPIK) ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจะสามารถยื่นวีซ่า D-4-3 ซึ่งเป็นประเภทย่อยของวีซ่า D-4 สำหรับฝึกงานทั่วไปและโดยปกติจะให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมต้น และมัธยมปลาย ผู้ที่ได้รับวีซ่า D-4 จะสามารถอยู่ในเกาหลีใต้นาน 1 ปี ดังนั้น นักเรียนต่างชาติที่เรียนมากกว่า 1 ปีจะต้องต่อวีซ่าจนกว่าจะเรียนจบ

ขณะนี้โรงเรียน 4 ใน 9 แห่ง คือ Uiseong Unitech High School, Korea International Culinary Arts High School, Korea Railroad High School และ Gimcheon High School ได้รับนักเรียนเรียบร้อยแล้วรวมทั้งหมด 32 คนจากไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา และมองโกเลีย

อีก 5 โรงเรียนที่เหลือ ได้แก่ Korea Marine Meister High School, Silla Technical High School, Gyeongju Girls Information High School และ Myeongin High School จะรับนักเรียนจากเวียดนามและอินโดนีเซียรวม 40 คน และจะเปิดรับถึงวันที่ 8 กันยายนนี้

Kim Mi-jeong ประธานโครงการนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังพูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้วีซ่าทำงานกับนักเรียนในโครงการนี้ด้วยให้สามารถอาศัยอยู่ในจังหวัดคยองซังเหนือได้หลังจบการศึกษา

โครงการนี้จะเปิดรับนักเรียนสำหรับปีการศึกษา 2025 อีกครั้งในปีหน้าแต่รายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมและจำนวนนักเรียนที่เปิดรับจะแตกต่างจากในปีนี้

ที่มา – Korea

Herald

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา