Sony ดันแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอนิเมะสู่อินเดีย หลังยอดขายทั่วโลกมาแรงแซงในญี่ปุ่น

Sony ปรับจุดโฟกัส หนุนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอนิเมะ Crunchyroll เข้าสู่ตลาดอินเดีย ตั้งเป้าเป็นแหล่งทำเงินใหม่ หลังยอดขายอนิเมะทั่วโลกมาแรงจนแซงยอดขายในญี่ปุ่น

Sony เตรียมขยายตลาดอนิเมะผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Crunchyroll ที่บริษัทเป็นเจ้าของเข้าสู่ตลาดประเทศอินเดียหลังมองเห็นศักยภาพว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตได้เป็นหลัก และมีศักยภาพที่จะผลักดันให้วงการอนิเมะที่เริ่มต้นมาจากญี่ปุ่นกลายเป็นความบันเทิงกระแสหลักทั่วโลก

Crunchyroll ได้รับการก่อตั้งโดยกลุ่มผู้จบปริญญาตรีจาก University of California โดยเริ่มมาจากการเป็นเว็บไซต์แบ่งปันอนิเมะเฉพาะในหมู่แฟนคลับหรือที่เรียกว่าโอตาคุ ก่อนจะได้รับการระดมทุนจนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่เผยแพร่เฉพาะอนิเมะถูกลิขสิทธิ์ และกลายมาเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอนิเมะที่ใหญ่ที่สุดจนทำให้ Sony ประกาศเข้าซื้อด้วยมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 

ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ มีรายได้ทั้งจากสตรีมมิ่ง เกม และการขายสินค้าอนิเมะ รวมทั้งยังเป็นเจ้าของอนิเมะเรื่องดังอย่าง One Piece และ Demon Slayer ทำให้สามารถดึงดูดผู้ชมจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้ามาเป็นสมาชิก

Rahul Purini ประธานบริษัท Crunchyroll เผยว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้มียอดสมาชิกกว่า 100 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 11 ล้านคนที่จ่ายเงินเพื่อชมคอนเทนต์ จำนวนสมาชิกมีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด-19 กลุ่มผู้ชมรวมถึงจากตลาดในประเทศฝั่งตะวันตกด้วย

Crunchyroll คาดว่าวงการอนิเมะจากมีผู้ชมมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกในปี 2025 ในตลาดอื่นนอกญี่ปุ่นและจีน ในจำนวนนี้ คาดว่า 200 ล้านคนจะชมอนิเมะผ่านเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมาย

Purini เผยว่า อินเดียยังเป็นตลาดที่มียอดสมาชิกน้อย แต่กลับมีการเติบโตของจำนวนสมาชิกมากเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนหน้า การเข้าสู่ตลาดอินเดียจะช่วยกระตุ้นรายได้ของธุรกิจบันเทิงของ Sony ในขณะที่แพลตฟอร์มเองก็มีผู้ชมเพิ่มมากขึ้นในตลาดอื่น ๆ อย่างอเมริกาใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Kenichiro Yoshida ซีอีโอของ Sony เผยแผนธุรกิจระยะยาวในการเพิ่มจะจำนวนผู้ชมคอนเทนต์ความบันเทิงทั้งเพลง เกม และภาพยนตร์ โดยตั้งเป้ามีผู้ชมเพิ่มขึ้น 6 เท่าจากที่มีอยู่จนถึง 1,000 ล้านคน

อินเดียถือเป็นตลาดแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่งโดยเฉพาะเมื่อจีนยังปิดประเทศ ขณะที่แพลตฟอร์มอย่าง Amazon และ Netflix ก็ยังแข่งขันเพื่อดึงดูดผู้ชมในอินเดียเพราะคาดว่าอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อในอินเดียจะเพิ่มขึ้นราว 10% ต่อไปจนมีมูลค่าถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030

Sony ยังพยายามเข้าแข่งขันในตลาดอินเดียโดยกำลังควบรวมกับ Zee Entertainment Enterprises ที่เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์และสถานีโทรทัศน์ของอินเดียทำให้บริษัทหลังควบรวมกันเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญ

Demon Slayer ภาพจาก Crunchroll

กลยุทธ์ของ Crunchyroll มีทั้งมีคอนเทนต์เพิ่มบนแฟลตฟอร์มและการนำอนิเมะที่มีอยู่แล้วมาพากษ์เสียงและใส่คำบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่นอย่างเช่น ภาษาฮินดี ปัจจุบัน แพลตฟอร์มได้ลดราคาสมาชิกลงในอินเดียอยู่ที่ราว 1 เหรียญหรือราว 35 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สุดของการเข้าสู่ตลาดอินเดีย คือ การโน้มน้ามใจให้ผู้บริโภคเลือกสมัครสมาชิกบนแพลตฟอร์มแทนที่จะชมอนิเมะจากเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์ Purini กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับทั้ง Sony Picture และพาร์ทเนอร์จากญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

มุมมองต่อกลยุทธ์ของ Sony ที่จะบุกตลาดอนิเมะของอินเดียอยู่ในแง่บวก นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า อนิเมะจะเป็นธุรกิจที่เติบโตเป็นหลักของ Sony แม้ว่าในปัจจุบันจะยังถือเป็นส่วนเล็ก ๆ รวมทั้ง Goldman Sachs ที่เห็นด้วยกับกลยุทธ์นี้

นักวิเคราะห์ Minami Munakata ประมาณการณ์ว่าในอีก 5 ปี แพลตฟอร์มอนิเมะจะทำรายได้ 36% ของธุรกิจบันเทิงของ Sony ที่มีทั้ง Hollywoods และธุรกิจคอนเทนต์ที่เติบโตเพียง 1% ในเดือนมีนาคมเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว รวมทั้งยังคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ภูมิภาคหลักที่จะกระตุ้นการเติบโตของวงการอนิเมะจะไม่ใช่แถบอเมริกาเหนืออีกต่อไป

James McWhirter นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Omidia บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีกล่าวว่า ในปัจจุบันตลาดอนิเมะนอกญี่ปุ่นก็มีมูลค่ามากกว่าภายในประเทศอยู่แล้วและจะยังเติบโตขึ้นอีก โดยอ้างอิงจากภาพยนตร์อนิเมะที่ทำเงินสูงบน Box Office อย่าง Demon Slayer และ Jujutsu Kaisen รวมทั้งอนิเมะบางเรื่องยังสร้างนอกประเทศญี่ปุ่นแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นยังเผยให้เห็นว่ายอดขายอนิเมะนอกประเทศญี่ปุ่นแซงหน้ายอดขายภายในประเทศในปี 2020 โดยยอดขายภายในประเทศอยู่ที่ 1,182 ล้านเยนขณะที่ยอดขายนอกประเทศอยู่ที่ 1,239 ล้านเยน ทั้งนี้ อนิเมะของแต่ละประเทศก็ยังเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของอนิเมะญี่ปุ่น

คู่แข่งสำคัญที่สุดของ Crunchyroll ตอนนี้คือ Netflix ที่คาดว่าจะมีผู้ชมที่เป็นแฟนคลับอนิเมะมากขึ้น รวมทั้งอนิเมะบนแพลตฟอร์มยังเป็นที่นิยมของผู้ใช้ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ Crunchyroll ไม่ได้ให้บริการเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับพาร์ทเนอร์ในญี่ปุ่น 

นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของ Netflix ทั่วโลกนอกประเทศญี่ปุ่นดูอนิเมะอย่างน้อยหนึ่งเรื่องในปี 2021 และเวลาที่ใช้ในการดูก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย 

เว็บไซต์ GameRant ได้รวบรวมสถิติ 10 อันดับมังงะที่ขายดีที่สุดในโลกในปี 2022 จากเว็บไซต์ Oricon ดังนี้
#1 Jujutsu Kaisen – 12,282,260 ก๊อปปี้
#2 Tokyo Revengers – 11,048,067 ก๊อปปี้
#3 Spy x Family – 10,600,571 ก๊อปปี้
#4 One Piece – 10,364,102 ก๊อปปี้
#5 My Hero Academia – 5,353,782 ก๊อปปี้
#6 Kingdom – 3,832,688 ก๊อปปี้
#7 Blue Lock – 3,548,238 ก๊อปปี้
#8 Chainsaw Man – 3,438,930 ก๊อปปี้
#9 Do Not Say Mystery – 3,140,861 ก๊อปปี้
#10 Kaji No. 8 – 3,139,803 ก๊อปปี้
อย่างไรก็ตาม Purini กล่าวว่า เขายินดีที่จะเผชิญการแข่งขันกับ Amazon และ Walt Disney เพราะการลงทุนของ 2 แพลตฟอร์มจะช่วยให้ผู้ชมอนิเมะในภาพรวมมีมากขึ้น และผู้ชมใหม่ ๆ ก็อาจจะเลือก Crunchyroll ในภายหลังเพื่อเลือกชมคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

บริษัทยังมีทิศทางการขยายธุรกิจที่ครอบคลุมบริการหลากหลายทั้งบริการสตรีมมิ่ง ภาพยนตร์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะ และนอกจากการขยายตลาดเข้าสู่อินเดีย Crunchyroll ก็ยังพูดคุยถึงเรื่องการนำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ด้วยการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ด้วย

ที่มา – Bloomberg, Comicbook

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา