กระทรวงแรงงานเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … โดยสามารถแสดงความเห็นได้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญว่าสำนักงานประกันสังคมมีแนวทางปรับเพดานค่าจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จากเดิมที่เพดานค่าจ้างอยู่ที่ 15,000 บาท มาอยู่ที่ 23,000 บาท โดยจะปรับขึ้น ดังนี้
- ตั้งแต่ปัจจุบัน – ธันวาคม 2566 กำหนดเพดานค่าจ้าง 15,000 บาท
- มกราคม 2567 – ธันวาคม 2569 กำหนดเพดานค่าจ้าง 17,500 บาท
- มกราคม 2570 – ธันวาคม 2572 กำหนดเพดานค่าจ้าง 20,000 บาท
- มกราคม 2573 เป็นต้นไป กำหนดเพดานค่าจ้าง 23,000 บาท
เมื่อปรับเพดานค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทำให้เพดานเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ต้องจ่ายตามอัตรา 5% ต้องมากขึ้นไปด้วย ดังนี้
- ตั้งแต่ปัจจุบัน – ธันวาคม 2566 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 750 บาท
- มกราคม 2567 – ธันวาคม 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาท
- มกราคม 2570 – ธันวาคม 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาท
- มกราคม 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท
ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพดานเงินสมทบ
ส่วนเรื่องประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงขึ้น ดังนี้
- กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาตามวันที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน
- กรณีคลอดบุตร เงินสงเคราะห์หยุดงาน 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 90 วัน
- กรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนการขาดรายได้ 30% หรือ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ
- กรณีเสียชีวิต เงินสงเคราะห์ตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือ 12 เดือนแล้วแต่กรณี
- กรณีว่างงาน เงินทดแทน 30% หรือ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือ 180 วันขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ว่างงาน
- เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างตั้งแต่เกษียณไปจนตลอดชีวิต
สามารถตอบแบบสำรวจแสดงความเห็นได้ที่ ระบบกลางทางกฎหมาย
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา