จับตา ‘กองทุนชราภาพ’ มีเงินเพียงพอจ่ายไหมในระยะยาว

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้จับตา ‘กองทุนชราภาพ’ มีเงินเพียงพอหรือไม่ในระยะยาว เสนอปรับอัตราสมทบให้เหมาะสม-ใช้มาตรการอื่นๆ อาทิ ขยายอายุเกษียณ ขยายเพดานค่าจ้างสูงสุด และให้รัฐบาลจ่ายส่วนที่ยังค้างสมทบให้กองทุนประกันสังคมทันทีที่ทำได้

ส่วนหนึ่งจากรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปี 2566 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของภาคอื่นๆ ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังต่อรัฐบาลและควรมีการติดตาม หนึ่งในความเสี่ยงที่ถูกพูดถึง คือ ‘กองทุนชราภาพ’

รายงานระบุว่า ‘เงินกองทุนประกันสังคม’ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ยังคงมีความเสี่ยงในระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของ ‘กองทุนชราภาพ’

เงินกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวน 2,335,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.34% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

‘ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น’ คือ วิกฤติโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ‘อัตราการจ่ายเงินสมทบ’ กลับสู่ระดับปกติ และการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยลดลง แต่ ‘ปัจจัยเสี่ยงระยะยาว’ อย่าง “ระดับความเพียงพอของเงินกองทุนชราภาพ” ยังเป็นเรื่องต้องติดตามต่อ

เพราะปัจจุบันอย่าง ‘อัตราส่วนเงินทุน’ (Funding Ratio) ในปี 2566 เมื่อเทียบกับมูลค่าปัจจุบันของ ‘ประมาณการรายรับ – รายจ่ายสุทธิ’ ในอีก 75 ปีข้างหน้า อยู่ที่เพียง 0.07 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับสากล

ยกตัวอย่าง คือ เทียบกับค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนเงินทุน (Funding Ratio) ของกองทุนบำนาญภาครัฐ 100 กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา จะอยู่ที่ประมาณ 0.7 เท่า

แนวทางแก้ปัญหาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

  • กองทุนประกันสังคมอาจจำเป็นต้องปรับ ‘อัตราเงินสมทบ’ ให้ความเหมาะสมขึ้น : อ้างอิงจากรายงานการประเมินสถานะกองทุนประกันสังคม รอบ 6 เดือน ปี 2566 อัตราเงินสมทบที่เหมาะสมในระยะปานกลางควร 18% ในขณะที่อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ 12.75%)
  • มาตรการอื่นๆ อาทิ การขยายอายุเกษียณ การขยายเพดานฐานค่าจ้างสูงสุด : ปัจจุบันกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุน ประกันสังคม พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญในการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท เป็น 23,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป)

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม จำนวน 71,384 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566) ทันทีที่ทำได้ด้วย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา