กรณีศึกษา แรงงานในสหรัฐกว่า 50% บอกว่า บริษัทต้องมีจุดยืนในประเด็นทางสังคม แล้วของไทยเป็นอย่างไร

ในสังคมการทำงานสมัยใหม่ บริษัทต้องมีจุดยืนในประเด็นสังคม เพราะคนทำงานตระหนักถึงความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น และความตระหนักรู้ทางสังคมของบริษัทเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ซึ่งกระทบโดยตรงต่อชีวิตของคนทำงาน

work place equality

ความเท่าเทียมและองค์กรยุคใหม่: กรณีศึกษาจากสหรัฐ

มีรายงานว่า แรงงานในสหรัฐอเมริกากว่าครึ่ง พร้อมลาออกหากบริษัทไม่ออกมาพูดถึงประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ

1 ปีหลังเหตุการณ์เสียชีวิตอย่างน่าสลดของ George Floyd จากปมปัญหาการเหยียดสีผิว ไม่เพียงแต่จะทำให้ชาวอเมริกันตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวมากขึ้น แต่ยังมีการกดดันให้บริษัทที่ทำงานออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ด้วย

จากผลสำรวจในผู้ใหญ่จำนวน 2,000 คน ของ The Haris Poll พบว่า

  • 69% ของคนอเมริกันเห็นว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหา
  • 60% มองว่าประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในอเมริกามีความรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  • 68% เชื่อว่าทุกคนสามารถถกประเด็นนี้ได้ในที่ทำงาน
  • 54% ของคนทำงานมีความคิดจะลาออกหากองค์กรไม่พูดถึงประเด็นการเหยียดเชื้อชาติอย่าตรงไปตรงมา

เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันคนวัยทำงานมองว่าการเหยียดเชื้อชาติไม่ใช่เรื่องปกติ และคาดหวังให้มีการพูดถึงประเด็นนี้อย่างเปิดเผย พร้อมทั้งแสดงออกผ่านการกดดันให้บริษัทออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว

แรงงานไทยยังมีอุปสรรค

สำหรับไทย แม้ไม่พบประเด็นการเหยียดเชื้อชาติรุนแรงเท่าในอเมริกา แต่ยังมีประเด็นจุดยืนทางการเมืองที่หลายบริษัทไม่กล้าออกมาพูดถึง เพราะยังมีเรื่องผลประโยชน์เช่น เครือข่ายนายทุนกับผู้มีอำนาจในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน

แม้จะมีองค์กรอิสระออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ แต่ก็ยังมีประเด็นพนักงานถูกบังคับออกเพราะแสดงออกทางการเมืองให้เห็นอยู่เรื่อยมา

ระบบอาวุโสในวัฒนธรรมการทำงานของไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ควรจะถูกพูดถึง แต่กลับถูกซุกไว้ใต้พรมจนฝังรากลึกในหลายองค์กร

ประเด็นการเหยียดอายุที่พบในวัฒนธรรมการทำงานของไทยจากการจัดลำดับอาวุโส นั่นก็คือการเลือกปฏิบัติต่อคนอายุน้อยภายในองค์กรที่บางครั้งไม่ได้รับความไว้วางใจในการทำงาน หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเพียงเพราะอายุน้อยกว่า

สรุป

หากจะทำให้ไทยไปถึงจุดเดียวกับอเมริกาในการออกมาเคลื่อนไหวของแรงงาน ยังคงต้องพยายามกันต่อไปเพราะยังมีเงื่อนไขในเรื่องวัฒนธรรมที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน หากจะหยิบยกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา

หวังว่าการมองเห็นปัญหาภายในองค์กรของไทยจะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอให้มีกรณีการสูญเสียอย่างในอเมริกา 

ที่มา: CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา