แค่การตลาดหรือจริงจัง? กรณีศึกษา Nike และ Adidas กับการเคลื่อนไหวทางสังคม

Nike Adidas

ข่าว George Floyd สร้างความสั่นสะเทือนแก่หลายบริษัทในสหรัฐอเมริกา

ปัญหาการเหยียดสีผิวเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกามานานนับทศวรรษ เหตุการณ์ความสูญเสียของ George Floyd สร้างความตระหนักเรื่องการเหยียดสีผิวและความเท่าเทียมของคนไปไกลทั่วโลก 

บริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ Amazon ไปจนถึง Under Armour ร่วมกันประณามการเหยียดสีผิวของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับชายอเมริกันผิวดำ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ให้คำมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้มากไปกว่าการบริจาคเงินช่วยเหลือแค่ครั้งเดียว หนึ่งในนั้น คือแบรนด์เครื่องสำอางค์ Glossier ที่นอกจากจะบริจาคเงิน 500,000 ดอลลาร์ให้กับกลุ่มต่างๆ เพื่อต่อสู้เรื่องการเหยียดสีผิวแล้ว ยังประกาศอีกว่าจะช่วยบริจาคเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ธุรกิจความงามที่มีเจ้าของเป็นคนผิวดำ

เมื่อ 2 แบรนด์ใหญ่ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม

Nike เป็นหนึ่งในแบรนด์ใหญ่ที่มักออกมาทำการตลาดที่เกาะกระแสทางสังคมอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ถ้าจำกันได้จากโฆษณาฉลองครบรอบ 30 ปีสโลแกน “Just Do It” ของ Nike ที่ได้กลายเป็นดราม่าสะเทือนวงการ แรงถึงขั้นที่ทำให้หุ้นของ Nike ร่วงถึง 3% (อ่านได้ที่ สิ่งที่นักการตลาดต้องเรียนรู้จากดราม่าโฆษณา Nike)

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Nike ออกมาเคลื่อนไหวก่อนบริษัทอื่นๆ ในประเด็นการต่อต้านการเหยียดสีผิว โดยจัดทำแคมเปญ Don’t Do It ขึ้น และต่อเนื่องด้วยการโพสต์ว่า

  • “Don’t pretend there’s not problem in America … Don’t turn your back on racism.” (อย่าแกล้งทำเป็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหา และอย่าหันหลังให้กับปัญหาการเหยียดสีผิว )

จากนั้นไม่นาน ทางฝั่งของ Adidas ก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยได้โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียซึ่งขีดฆ่าคำว่า “Racism” และประกาศว่า

  • “Together we must fight what is wrong and try to make it right.” (พวกเราจะร่วมกันต่อสู้กับสิ่งที่ผิดเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมให้ได้)

แต่ … Nike และ Adidas จริงจังแค่ไหนเรื่อง Racism

แม้การออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจของแบรนด์ยุคใหม่ที่ต้องการแสดงจุดยืนทางสังคม (และหมายรวมถึงทางการเมืองด้วย)

แต่ถึงอย่างไร คำถามที่สำคัญคือทั้ง 2 แบรนด์ใหญ่ทำสิ่งนี้เพราะเป็นแค่การตลาดตามกระแสสังคม หรือทว่ามีแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเหยียดสีผิวจริงๆ อยู่เบื้องหลัง

ข้อมูลจาก Quartz ที่เปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่า

  • Nike มีพนักงานผิวดำในบริษัทเพียง 22 % และมีคนผิวดำเพียง 10% ที่ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งผู้บริหาร
  • ส่วนด้านของ Adidas ไม่มีข้อมูลสัดส่วนของพนักงานในบริษัท แต่ในเมื่อคู่แข่งออกมาทำแคมเปญ จะให้อยู่เฉยได้อย่างไร เพราะถ้าเปิดตัวเลขดูในตลาดสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดสำคัญที่ทำรายได้ให้กับแบรนด์ Adidas สูงถึง 22.5% จากยอดขายทั้งหมด 6.5 พันล้านดอลลาร์ (ตัวเลขเมื่อปี 2019)

Nike กับสัดส่วนและตำแหน่งของคนผิวดำในองค์กร

ครั้งหนึ่ง Nike เคยออกมายอมรับว่าสมัยก่อนภายในบริษัทของตนยังมีปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวอยู่ แต่นั่นเป็นเพียงคำพูด

ถ้าวัดเป็นตัวเลขชัดๆ หากดูจากตำแหน่งงานในบริษัทจะพบว่า Nike มีพนักงานผิวดำถึง 22% แต่เมื่อเจาะลงไปดูว่าคนที่จะขึ้นไปถึงตำแหน่งสูงอย่างรองประธานบริษัทนั้นมีสัดส่วนเป็นคนผิวขาวถึง 77% ส่วนคนผิวดำมีอยู่เพียง 10% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขจะยังดูห่างกันมาก แต่สำหรับ Nike บริษัทเดียวก็ถือว่าเป็นองค์กรที่มีความหลากหลายของคนที่ขึ้นมาเป็นตำแหน่งหัวหน้ามากกว่าบริษัทอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว 

อีกหลายบริษัทในสหรัฐอเมริกายังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ กับเรื่องนี้

Black Enterprise บริษัทนิตยสารการเงินสำหรับลูกครึ่งอเมริกันและแอฟริกัน ทำการศึกษาในปี 2019 พบว่าบริษัทจำนวน 187 แห่งที่อยู่ใน S&P 500 (ดัชนีตลาดหุ้นที่ติดตามหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐจำนวน 500 แห่ง) ไม่มีคนผิวดำในตำแหน่งบริหารแม้แต่คนเดียว 

นอกจากนั้น Black Enterprise เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วงหลังมานี้ กระแสเรื่องการจัดการสัดส่วนของพนักงานดีขึ้น ดูได้จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Apple และ Facebook ที่ได้เพิ่มจำนวนคนผิวดำในทีมผู้บริหารมากขึ้น

แต่ที่น่าเสียดายคือบริษัทอย่าง Cisco Oracle และ Intuit ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทเหล่านี้ได้รับแรงกดดันอย่างหนักให้ลุกขึ้นมาสนับสนุนผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิว 

สรุป

ในปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังคงล้มเหลวในเรื่องการรับคนผิวดำเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ สิ่งสำคัญคือหลังจากนี้บริษัทต่างๆ ต้องวางแผนเพื่อเพิ่มความหลากหลายในหมู่พนักงานมากกว่าเดิม โดยเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งของคนที่เพิ่งเข้าทำงานไปจนถึงตำแหน่งบริหาร 

อย่างไรก็ดี Alexis McGill Johnson ผู้ร่วมก่อตั้งของ Perception Institute ออกมากล่าวไว้ในปี 2018 ไว้อย่างน่าสนใจว่า  “พวกเราอาศัยอยู่ในโลกของทุนนิยม ทำให้เป็นเรื่องยากที่ความยุติธรรมจะแทรกตัวอยู่ในสังคมรูปแบบนี้” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแคมเปญต่างๆ ที่หลายบริษัทออกมาเคลื่อนไหวจึงนับเป็นเรื่องดีที่มีการเรียกร้องถึงความยุติธรรมในสังคม

ที่มา: Quartz, Nike, Adidas

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

Freelance Writer ที่ Brand Inside สนใจเรื่องแบรนด์ การตลาด เทคนิคการทำงาน และการบริหารองค์กร ชอบงานสัมภาษณ์เป็นพิเศษ : )