“หนังเงียบ” ดูยากจริงหรือ? พาชมเทศกาลหนังเงียบครั้งที่ 5 ในปีที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

หนังเงียบ หรือ Silent Film สนุกอย่างไร

สุนทรียศาสตร์ในการชมภาพยนตร์ก่อนที่จะมีการบันทึกเสียงเป็นแบบไหน คนสมัยก่อนดูหนังอย่างไร หนังไม่มีเสียงจะสนุกได้อย่างไร Brand Inside ชวนมา The 5th Silent Film Festival in Thailand เทศกาลหนังเงียบ ครั้งที่ 5 พูดคุยกับ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถึงทิศทางในการจัดงานครั้งต่อไป ในวันที่โรงภาพยนตร์เครือ Apex ทยอยปิดตัวลง (Scala, Lido)

ความเป็นมาก่อนจะมาถึงการจัดเทศกาลหนังเงียบ ครั้งที่ 5 ?

จริงๆ คนสงสัยว่า ทำไมหอภาพยนตร์ถึงมาจัดเทศกาลหนังเงียบ ทั้งที่จริงๆ หนังเงียบของไทยมีน้อยมาก ที่เหลืออยู่ก็เป็นแค่เศษฟิล์ม ไม่ได้มีเต็มเรื่อง ถ้าฉายจะเป็นตามโอกาสพิเศษ โดยหนังเงียบที่เอามาฉายในเทศกาล จะทำให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ คือ หน่วยงานอนุรักษ์ ทำงานอย่างหนักกว่าจะหาฟิล์มและเอามาซ่อมทำการบูรณะขึ้นมาให้กลายมาเป็นหนังที่สามารถดูได้ เพราะฉะนั้นการจัดฉายหนังแต่ละครั้งทำให้เห็นว่า ความสำคัญของการทำนุบำรุงสำคัญอย่างไร เลยเป็นที่มาของการจัดเทศกาลหนังเงียบในไทย

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ที่ผ่านมามีคนให้ความสนใจมากน้อยขนาดไหน ?

ในปีแรกมีคนให้ความสนใจเยอะมาก ถ้าเทียบแล้วปีแรกเยอะสุดและเห็นได้ชัดว่าเพราะคนไม่เข้าใจว่า หนังเงียบ คืออะไร มาดูด้วยความสงสัยกันเยอะ ตอนปีแรกที่เปิดตัวคนก็คงตื่นเต้น ว่าไม่เคยเห็นการฉายหนังเงียบขาวดำในโรงภาพยนตร์ แล้วมีเล่นเปียโนสดประกอบตัวเดียว คนก็ไม่คุ้นเคย

หลังๆ เราพบว่าจำนวนคนอาจจะน้อยลงแต่ว่าเป็นกลุ่มแฟนประจำมากขึ้น พอเราเปิดโปรแกรม แฟนประจำมาแน่นอน ทำให้ทีมงานกล้าเลือกหนังที่ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง แต่คิดว่ามันดี มันน่าฉาย ปีนี้เน้นเลือกหนังให้หลากหลาย มีทั้งเม็กซิโก, รัสเซีย,​จีน,​เนเธอร์แลนด์ ซึ่งอาจไม่ได้มีชื่อเสียง แต่มีความสำคัญของแต่ละประเทศเลยเลือกมา เพราะรู้ว่ามีคนดูแน่นอนจึงกล้าทำ

ทำไมต้องเป็นดนตรีสด ?

ดนตรีสดประกอบ เป็นขนบหนึ่งที่เกิดขึ้นสมัยก่อน คือการใช้ดนตรีเพื่อที่จะเล่นประกอบหนัง ก่อนหน้านี้มีโอกาสไปเทศกาลหนังเงียบ Pordenone ที่อิตาลี พบว่ามีคนที่ทำอาชีพเล่นดนตรีประกอบหนังเงียบเป็นจริงเป็นจัง ดังนั้นถ้าจัดเทศกาลหนังที่ไทยแล้วเชิญคนเหล่านี้มา นอกจากจะอนุรักษ์หนังแล้ว ยังนำเสนอสิ่งที่เป็นประสบการณ์การดูหนังในสมัยก่อนให้คนยุคปัจจุบัน

ทุกปีที่เป็นช่วงเทศกาลนอกจากจะเชิญนักดนตรีมืออาชีพมาแสดง มีการ Workshop มีนักเรียนดนตรีหรือคนที่สนใจและมีพื้นฐานทางเปียโนมาเข้าร่วม ได้รู้ว่าการเล่นดนตรีประกอบหนังเงียบต้องทำอย่างไร ต้องมีทั้งความเข้าใจหนังและดนตรี ตีความอย่างไรให้ดนตรีเข้ากับบรรยากาศ


ความสำเร็จของการจัดเทศกาลนี้ ในมุมมองของผู้จัดเป็นอย่างไร ?

หอภาพยนตร์เป็นองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร เน้นสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์เป็นหลักและความสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ดังนั้น การที่มีคนมาดูหนังที่ได้รับการบูรณะแล้วเขาก็เห็นว่าการอนุรักษ์ภาพยนตร์สำคัญอย่างไร นี่คือความสำเร็จมากกว่าจำนวนและรายได้ อย่างน้อยมีคนเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ภาพยนตร์และได้มีประสบการณ์ในการดูหนังที่แตกต่างจากในตลาด

เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ?

สกาลาจะอยู่ถึงสิ้นปี ในฐานะคนจัดงานไม่มีทางรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ทางสกาลา นอกจากเทศกาลหนังเงียบ ยังมีกิจกรรมที่ชื่อ “ทึ่ง! หนังโลก” หอภาพยนตร์ก็จะเลือกหนังคลาสสิคที่บูรณะแล้วมาฉายที่สกาลาเดือนละครั้ง

“ปีนี้พอสกาลา คอนเฟิร์มว่าอยู่ถึงสิ้นปี เราก็วางตารางหนังถึงสิ้นปีให้ ถ้าสกาลายังอยู่เราก็พร้อมจัดต่อเนื่อง วันเปิด-ปิดเทศกาล หรือหนังเด่นๆ จะจัดที่สกาลา เพราะโรงมีขนาดใหญ่ แต่เรื่องอื่นๆ จะจัดที่ลิโด ซึ่งมีขนาดเล็กคนมาน้อยก็ไม่น่าเกลียด ในฐานะคนจัดงานเราไม่ได้คำนึงเรื่องเงินทอง แต่ถ้าจำนวนคนน้อยเกินไปก็รู้สึกเฟลเหมือนกัน”

มีรายได้หรือกำไรมั้ย ?

ขาดทุน อย่างที่บอกว่าเป็นองค์การมหาชนไม่แสวงหากำไร ตัวชี้วัดไม่ใช่ตัวเงินแต่ตอบวัตถุประสงค์การจัดตั้งของหอภาพยนตร์ ความพึงพอใจของผู้เข้าชมเป็นอย่างไร สร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ รวมถึงการฉายและเล่นดนตรีประกอบหนังเงียบ เรียกว่าผ่านจุดกำไร-ขาดทุนไปนานแล้ว (หัวเราะ)

ที่ผ่านมามีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศมาร่วมจัดด้วย มีการร่วมแชร์บางอย่างเป็นลักษณะของการสร้างความร่วมมือ คือหน่วยงานเองไม่ได้ถูกกดดันเรื่องจำนวนเงิน อย่างน้อยเห็นแล้วว่ามีคนให้ความสนใจ นี่คือความสำเร็จ

เกณฑ์การเลือกหนังในแต่ละปี?

ตั้งแต่ปีแรก มีคนถามว่าทำไมไม่เลือกหนังที่คนรู้จัก แต่เป้าหมายคือ อยากจะให้คนได้เห็นหนังที่หลากหลายและนี่คือประเด็นสำคัญเลยที่หนัง 11 เรื่องในปีนี้ผ่านการเช็คว่ามีสไตล์ที่ซ้ำหรือใกล้เคียงกันหรือไม่ แต่ละปีเลยมีหนังหลายๆ แนว ทำให้คนเห็นว่าหนังเงียบนี่มันหลากหลาย

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะรู้จักหนังเงียบแค่ Charlie Chaplin แต่จริงๆ แล้วยุคหนังเงียบมีประมาณ 30 ปีในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ต้องทำให้รู้ว่ามีหนังแนวอื่นอีก ซึ่งสัญชาติหนังก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังมีความหลากหลาย ถึงจะไม่โด่งดังแต่การันตีได้ว่าไม่ผิดหวัง มันเลยย้อนกลับไปที่คำตอบก่อนหน้านี้ที่ว่าพอมีกลุ่มคนดูที่ตามดูแน่ๆ ทำให้ทีมงานกล้านำเสนอมากขึ้น พร้อมเสี่ยงมากขึ้น ส่วนปีแรกเรียกว่าเป็นปีทดลองเลยเอาหนังระดับผู้กำกับ Alfred Hitchcock มาฉาย

หนังแต่ละเรื่องกว่าเอามาฉายต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง?

หอภาพยนตร์ทั่วโลกมีประมาณ 180 แห่ง กระจายอยู่ประมาณ 80 ประเทศทั่วโลก ทุกคนก็มีหน้าที่ใกล้ๆ กันคือ การหาหนัง บูรณะหนัง เช่นเรื่อง “The Passion of Joan of Arc” เป็นตัวอย่างสำคัญที่น่าสนใจมากว่าหลังออกฉายครั้งแรกปรากฏว่าตัวหนังต้นฉบับถูกไฟไหม้ (เหมือนตัวเอกของเรื่องเลย) แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ผู้กำกับก็ไปหาตัวก็อปปี้หรือส่วนที่ตัดออกจากต้นฉบับมาใส่แทนเลยกลายเป็นหนังที่ใช้เผยแพร่ในยุคต่อมาจนกระทั่งวันหนึ่งมีคนไปเจอฟิล์มสำเนาชุดต้นฉบับอยู่ ทีนี้บริษัท Gaumont ที่จัดจำหน่ายมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังคลาสสิคและเป็นที่พูดถึงว่าเป็นหนังเงียบที่ดีที่สุดจึงทำการบูรณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แล้วนำตัวดิจิทัลออกฉายเพื่อให้รบกวนการทำงานของฟิล์มให้น้อยที่สุด


ทำไมเราจึงควรออกมาดูหนังเงียบ ?

หนังเงียบต้องดูในโรงภาพยนตร์ ประสบการณ์ในวันฉายวันแรกนี่ดีมาก คือ The Passion of Joan of Arc เป็นหนังกึ่งทดลองหน่อยๆ ตัวหนังไม่ได้เล่าเรื่องอะไรและถ่ายโดยใช้มุมแคบเยอะมาก เป็นเวลาชั่วโมงกว่าของเรื่องนี่อยู่แค่ในห้อง คือถ้านั่งดูอยู่บ้านคงต่อติดกับเรื่องยาก พอดูในโรงวันนั้นทำให้รู้เลยว่าพลังของหนังมันเยอะมากบวกกับดนตรีที่เล่นด้วยมันได้อารมณ์มาก

นี่แหละคือประสบการณ์และสาเหตุว่าทำไมเราต้องออกมาดูหนังเงียบ จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้ดูหนังที่ไหนก็ได้ แต่การดูหนังแล้วมีดนตรีสดประกอบต้องมาดูที่เทศกาลเท่านั้น นอกจากทำให้เกิดอารมณ์ร่วมแล้วยังทำให้เข้าใจอรรถรสของหนังแล้วก็ภาษาภาพหนังได้ดีมากกว่าเดิม

ใครกลัวว่าหนังขาวดำจะดูยากให้ลองมาดูและเปิดประสบการณ์ เพราะอย่างแรกเลยคือ ถ้าคุณไม่เคยได้ลองมาก่อนก็ไม่รู้หรอกว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็มีเรื่องอื่นอีกนะเพราะอย่างที่บอกว่าหนังเงียบที่เอามาฉายเนี่ยมีหลายแนว (หัวเราะ) ลองมาดูแล้วเราจะเห็นว่าภาษาภาพหรือสไตล์ของหนังอาจจะดูเก่าดูเชยแต่ว่าจริงๆ แล้วมันเข้าใจไม่ยากเพราะภาษาของหนังเงียบเป็นภาษาเบื้องต้นของภาพยนตร์เพราะในยุค 30 ปีแรกของหนังไม่มีเสียงต้องใช้ภาพเป็นการสื่อสารหลัก ไวยากรณ์ของหนังด้านภาพถูกคิดค้นมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ คือรากฐานของหนังทุกวันนี้ หนังเงียบไม่ยากอย่างที่คิด เลยอยากให้ทุกคนมาดูกัน

ผู้ที่สนใจเข้าชมสามารถเช็คโปรแกรมฉายได้ที่ facebook.com/silentfilmthailand/ โดยงานจะจัดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่โรงภาพยนตร์ลิโด สยามสแควร์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา