สวนกระแส ‘สยามสปอร์ต’ ดิ้นสู้ธุรกิจสื่อขาลง ขยายธุรกิจส่งหนังสือพิมพ์-ซื้อโรงพิมพ์

ในยุคที่บริษัทสื่อแบบดั้งเดิมต้องเร่งปรับตัวหนีตายอย่างหนัก จากการมาถึงของสื่อดิจิทัล กลุ่มสยามสปอร์ตในฐานะสื่อด้านกีฬารายใหญ่ของประเทศ ก็มีทิศทางการปรับตัวที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่รุกตลาดสื่อออนไลน์-ขยายงานอีเวนต์เหมือนบริษัทสื่อรายอื่นๆ แต่สยามสปอร์ตยังหันมาเน้นธุรกิจการขนส่งหนังสือพิมพ์ และเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงพิมพ์อีกด้วย

ธุรกิจใหม่คือลอจิสติกส์ รับจ้างส่งหนังสือพิมพ์ให้ทุกค่าย

ยุคสมัยที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่แทบทุกหัวมีระบบสายส่งของตัวเองอาจจบลงแล้ว เพราะเวลาการวางแผงหนังสือพิมพ์ในตอนเช้ามืดไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป (เมื่อทุกคนสามารถอ่านได้เร็วกว่าผ่านออนไลน์) การมีระบบขนส่งของตัวเองกลายเป็นภาระที่ต้องแบกรับ และการควบรวมหน่วยงานขนส่งเข้าด้วยกัน ย่อมเป็นทางรอดทางเดียวที่เหลืออยู่

ก่อนหน้านี้ในปี 2560 กลุ่มมติชนได้ประกาศยุบแผนกโรงพิมพ์-สายส่ง และใช้วิธีเอาต์ซอร์สให้กลุ่มสยามสปอร์ตเข้ามาทำแทน ถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าให้เห็นว่า สยามสปอร์ตจะเข้ามารับช่วงต่องานด้านสายส่งอย่างจริงจัง

ในงานประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของสยามสปอร์ต ในวันที่ 29 สิงหาคม 2561 สยามสปอร์ตก็ระบุว่าที่ผ่านมารับเป็นตัวแทนจัดส่งให้กับหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน และเครือเนชั่น (คมชัดลึก/เนชั่น) ไปทั่วประเทศ

นอกจากนี้ สยามสปอร์ตยังเป็นตัวแทนกระจายหนังสือพิมพ์ค่ายอื่นๆ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ เข้าร้าน 7-Eleven ในเขตกรุงเทพด้วย

ภาพจาก siamsport

ในคอลัมน์ “เหะหะพาที” ของคอลัมนิสต์ชื่อดัง “ซูม” ประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 31 สิงหาคม 2561 ได้เปิดเผยเบื้องหลังของยุทธศาสตร์การขนส่งหนังสือพิมพ์เข้า 7-Eleven ว่าเกิดจากการพูดคุยกันของ “ระวิ โหลทอง” บอสใหญ่ของสยามสปอร์ต และ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” บอสใหญ่ของ 7-Eleven ว่าที่ผ่านมา ร้าน 7-Eleven เลิกขายหนังสือพิมพ์ไปได้สักพักหนึ่ง เพราะไม่คุ้มกับการบริหารต้นทุน เนื่องจากหนังสือพิมพ์เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น (24 ชั่วโมง)

เมื่อระวิ โหลทอง ทราบเรื่องนี้ จึงอาสารับเป็นผู้จัดการด้านการขนส่งให้ เพราะสยามสปอร์ตมีกองทัพสายส่งของตัวเองที่ต้องทำตรงนี้อยู่แล้ว

เมื่อคุณระวิขอทราบถึงเหตุผลต่างๆที่ต้องหยุด…และเมื่อทราบแล้วคุณระวิก็ถามขึ้นว่า…

หาก สยามสปอร์ต ซึ่งมีกองทัพมอเตอร์ไซค์ขนหนังสือพิมพ์กีฬา ทั้ง สยามกีฬารายวัน, สปอร์ตพูล, สตาร์ซอคเกอร์ ฯลฯ ไปส่งให้เซเว่นฯอยู่แล้ว จะขันอาสาขนหนังสือพิมพ์ต่างๆไปส่งด้วย ทางเซเว่นฯจะยอมขายให้หรือไม่?

คุณก่อศักดิ์ตอบทันทีว่า ถ้ามีคนขนไปส่งให้โดยตรงเลย มีหรือผมจะไม่ยอม เพราะผมเป็นคนรักหนังสือแค่ไหนพี่วิก็รู้แก่ใจอยู่แล้ว

เป็นที่มาของการตกลงครั้งสำคัญ คือ สยามสปอร์ต จะทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง “รวมห่อ” ในยุคก่อน…คือหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะขนหนังสือไปส่งไว้ที่ สยามสปอร์ต จากนั้นทางสยามสปอร์ตก็จะแบ่งไปส่งตามเซเว่นฯสาขาต่างๆควบคู่ไปกับ หนังสือกีฬา ของตนเอง

ทำให้หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับกลับไปวางจำหน่ายใน “7-Eleven” อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว สยามสปอร์ตยังระบุว่าจะทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ด้วยการนำรถส่งหนังสือ ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งวิ่งทั่วประเทศเป็นประจำทุกวัน เปิดรับขนส่งสินค้าทั่วไทยอีกด้วย

ลงทุนในโรงพิมพ์ ซื้อหุ้นสยามพริ้นต์

กลุ่มสยามสปอร์ตมีโรงพิมพ์ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว และที่ผ่านมาก็รับจ้างพิมพ์หนังสือให้กับสำนักพิมพ์อื่นๆ อยู่บ้าง ครั้งนี้ สยามสปอร์ตยังตั้งใจขยายธุรกิจด้านการพิมพ์ต่อไปอีก ด้วยการซื้อหุ้นบริษัทสยามพริ้นท์ จำกัด โรงพิมพ์รายใหญ่ย่านรามอินทราด้วยมูลค่า 132 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2560

สยามสปอร์ตอธิบายเหตุผลของการซื้อหุ้นว่า สยามพริ้นท์มีศักยภาพสูง มีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีเพียงไม่กี่เจ้าในไทย และสามารถรองรับความต้องการพิมพ์งานของลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร แผ่นพับ โบรชัวร์ โปสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งต่างไปจากเครื่องพิมพ์ของบริษัทที่รองรับเฉพาะสิ่งพิมพ์เท่านั้น – ข่าวหุ้น

ถึงแม้การซื้อกิจการสยามพริ้นท์จะเป็นการซื้อกิจการในเครือ นั่นคือเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจาก บริษัทกิเลนการพิมพ์ ในเครือสยามสปอร์ต มาเป็นสยามสปอร์ตโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นทิศทางของสยามสปอร์ตในตลาดการพิมพ์ได้ดี

หน้าเว็บไซต์ของบริษัท สยามพริ้นต์ จำกัด

รุกสื่อดิจิทัล-อีเวนต์ จับมือพาร์ทเนอร์ขายตั๋วกีฬา ทำทัวร์ดูกีฬาต่างประเทศ

แผนงานอื่นๆ ของสยามสปอร์ต มีทั้งการขยายไปทำธุรกิจอีเวนต์ผ่านบริษัทลูก คอร์โน แอนด์ แนช เช่น ออโต ซาลอน, มิสทีนไทยแลนด์, สปอร์ต เอ็กซ์โป รวมทั้งยังรับงานราชการจากการจัดลีกฟุตบอเยาวชน ยูธลีก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย, รับดำเนินงานทั้งระบบของฟุตบอลคิง เพาเวอร์ ในประเทศ, รับงานการอบรมกีฬาของ สสส., กิจกรรมเข้าแคมป์กีฬาของมูลนิธิไทยคม

ส่วนธุรกิจดิจิทัลก็ยังเดินหน้าต่อกับเว็บไซต์ siamsport.co.th และ siamdara รวมถึงช่องทาง LINE, Facebook และการต่อสัญญากับ Bein Sport ที่ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกใหญ่ในยุโรป นำไฮไลต์การแข่งขันมาเผยแพร่ผ่านช่องทางของสยามสปอร์ตต่อเป็นปีที่ 2

นอกจากนี้ สยามสปอร์ตยังประกาศทำธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยจับมือกับบริษัท MFEC จัดการขายตั๋วกีฬาออนไลน์ และทำธุรกิจทัวร์ชมกีฬาระดับโลก และการใช้บริษัทลูก iSport บริหารสิทธิการหารายได้ให้กับสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยด้วย

ภาพจาก siamsport

ธุรกิจยังขาดทุน ต้องเพิ่มทุน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ตัวเลขผลประกอบการ ธุรกิจของสยามสปอร์ตในไตรมาส 2 ของปี 2561 ยังประสบปัญหาขาดทุน โดยมีรายได้ 223 ล้านบาท และขาดทุน 45.1 ล้านบาท

ตัวเลขรายได้ของสยามสปอร์ตในไตรมาสล่าสุด เพิ่มขึ้น 45.41% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่มาจากการรับรู้รายได้ของบริษัทสยามพริ้นท์ที่ซื้อกิจการเข้ามา ส่วนรายได้จากการโฆษณาลดลงจาก 59.7 ล้านบาทในปีที่แล้ว มาเหลือ 48.6 ล้านบาทในปีนี้ โดยฝ่ายบริหารของบริษัทให้เหตุผลว่าเกิดจากเศรษฐกิจซบเซา ลูกค้าจึงลดงบประมาณโฆษณาลง

หากย้อนดูผลประกอบการของสยามสปอร์ตในรอบ 5 ปีหลังสุด จะเห็นว่ารายได้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี และบริษัทประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด

SiamSport
รายได้ย้อนหลัง 5 ปีของกลุ่มสยามสปอร์ต (ปี 2561 นับแค่สองไตรมาสแรก) – ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2561 บริษัทจึงประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 พันล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนรวม 2.5 พันล้านบาท เพื่อนำทุนไปชำระหนี้บางส่วน และเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของบริษัทด้วย ขณะนี้คณะกรรมการได้อนุมัติแผนการแล้ว และรอการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 กันยายน 2561 ต่อไป – กรุงเทพธุรกิจ

ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของธุรกิจกลุ่มสยามสปอร์ตจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะธุรกิจสายกีฬาที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ทั้งเว็บไซต์หรือเพจด้านกีฬาที่เปิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก สามารถรายงานผลได้ทันใจกว่า รวดเร็วกว่าสิ่งพิมพ์แบบเดิม

ข้อมูลจาก SiamSport

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา