หลังจากที่ราคาบ้านในเซินเจิ้นพุ่งทะยานไปสู่อันดับ 1 ของโลก ทางการจีนก็ออกมาตรการปรับให้ราคาบ้านต่ำลงตลอดมา ล่าสุด บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางเจ้าถึงกลับต้องพึ่งพาการขายบ้านผ่านตลาดมืดเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกดราคา
ตลาดมืดอสังหา ทางออกของนายทุนขายบ้านในเซินเจิ้น
ไม่นานมานี้ บริษัทนายหน้าอสังหาฯ รายหนึ่งกลางกรุงเซินเจิ้นได้ติดประกาศขายผลไม้หลายชนิดที่หน้าต่างสำนักงานของตัวเองด้วยราคาที่ไม่สมเหตุสมผลนัก
ตั้งแต่กล้วยลูกละ 1 ล้านหยวน (ประมาณ 4.9 ล้านบาท) ไปจนถึงทุเรียนลูกละ 10 ล้านหยวน (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมผลไม้ถึงมีราคาแพงขนาดนี้ ผลไม้เหล่านี้ก็คือราคาของบ้านที่ขายในตลาดมืดนั่นเอง
ในอีกด้านหนึ่ง บางเจ้าก็เริ่มเก็บค่าตกแต่งบ้านในราคาที่สูงขึ้น เพื่อทดแทนราคาบ้านที่ถูกลง
สถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังทางการเซินเจิ้นประกาศราคากลางต่อตารางเมตรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และห้ามไม่ให้นายหน้าขายบ้านในราคาที่สูงกว่าราคากลาง แต่ด้วยความที่ราคากลางต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก บริษัทนายหน้าบางรายจึงใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายในการหารายได้
ถึงแม้บริษัทดังกล่าวจะถูกสั่งปิดเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ในภายหลัง แต่ปัญหาเรื่องราคาตลาดของบ้านที่ไม่สัมพันธ์กับราคากลางก็ยังไม่คลี่คลาย
ในขณะเดียวกัน ธนาคารเองก็ถูกกำชับไม่ให้รับจำนองบ้านในราคาที่สูงกว่าราคากลาง โดยให้เหตุผลว่าธนาคารควร “ให้กู้อย่างโปร่งใสมากขึ้น” และสนับสนุนให้ลูกค้า “ทำธุรกรรมทางการเงินอย่างมีสติ”
ทางการจีนกดดันหนัก พยุงให้แรงงานในเซินเจิ้นมีบ้านอยู่
หนึ่งในคำวิจารณ์ที่ทางการเซินเจิ้นได้รับทุกปีคือ ความล้มเหลวในการจัดการให้ราคาบ้านเหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย โดยไม่ใช่ราคาสำหรับนักเก็งกำไร
ด้วยความที่รัฐบาลกลัวว่า การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระดับสูงของจีนในเมืองเซินเจิ้นจะชะลอลง จากการที่พนักงานหาที่พักไม่ได้ ทางการจึงให้ความสำคัญกับราคาบ้านในเมืองเซินเจิ้นเป็นอันดับแรก
ถึงแม้นายกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของเซินเจิ้นจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถควบคุมราคาบ้านได้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลก็ยังหาทางประนีประนอมกับบริษัทและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้อยู่ดี
ตั้งแต่ปี 2016 ทางรัฐบาลจีนก็เริ่มวางมาตรการในการควบคุมการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอดแต่ก็ราคาบ้านก็ยังเพิ่มขึ้นทุกปี
ในปี 2020 ราคาเฉลี่ยของบ้านในจีนต่อ 1 ตารางเมตรเท่ากับ 9,980 หยวน หรือประมาณ 48,500 บาท ซึ่งเป็นการเติบโตถึง 2 เท่าภายใน 10 ปี หรือ 8% จากปี 2019
สัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้ในเซินเจิ้น (เทียบราคาของอพาร์ทเม้นท์ขนาด 1,100 ตารางเมตรกับรายได้เฉลี่ยของเมืองนั้นๆ) อยู่ที่ 36.1 ในปี 2019 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศจีน สูงกว่าทั้งเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งที่มีสัดส่วนประมาณ 25 เท่านั้น
ทางการ vs นักเก็งกำไร: การต่อสู้ยาวนานหลายสิบปี
ผลลัพท์ของการบังคับใช้ราคากลางเห็นได้จากการที่ตลาดบ้านมือสองในเซินเจิ้นเริ่มได้รับผลกระทบ
จำนวนบ้านที่ขายได้ในเดือนพ.ค. ลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับปี 2020 และราคาเฉลี่ยของบ้านมือสองก็ไม่เพิ่มขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน
ด้วยความที่รัฐบาลจีนควบคุมการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนชาวจีนที่ไม่ไว้วางใจตลาดหุ้นในประเทศจึงเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แทน อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงหากราคาตกเกินไปอีกด้วยเพราะ “บ้าน” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสงบสุขในสังคม
นักลงทุนบางราย เช่น Liu Weiqiang ผู้ที่ยอมหย่ากับภรรยาของตนเองเพื่อจะซื้อบ้านเพิ่มได้ เขาเริ่มลงทุนในตลาดบ้านเซินเจิ้นในปี 2006 และมีบ้านในชื่อของตัวเอง อดีตภรรยา หรือแม้แต่ของเพื่อนของเขาถึง 11 หลังในปี 2010
โดยตอนนี้ Liu หันไปลงทุนในหุ้นและตลาดบ้านในเมืองอื่นๆ แทนแล้ว โดยให้ความเห็นว่านักเก็งกำไรในจีนล้วนแล้วแต่เคยชินกับการเลี่ยงกฎหมายหรือหาช่องโหว่กันอย่างมาก จึงไม่คิดว่ามาตรการต่างๆ จะมีผลในระดับประเทศมากนัก อีกทั้งราคาบ้านในประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
สรุป
ด้วยความที่ทางการจีนต้องระวังไม่ให้ฟองสบู่ของตลาดบ้านแตก มาตรการต่างๆ จึงถูกประกาศใช้ออกมาเรื่อยๆ น่าจับตามองว่านักลงทุนในจีนจะยอมถอยหรือไม่ และคนที่ต้องการบ้านพักจริงๆ จะสามารถหาบ้านในงบที่ต้องการได้หรือไม่
ส่วนตัวมองว่า หากทางการจีนลดการควบคุมด้านการลงทุนในต่างประเทศลง นักลงทุนชาวจีนก็จะมีทางเลือกมากขึ้นและไม่ยึดติดกับตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างที่เป็น ณ ปัจจุบัน
ที่มา – Asia Nikkei, WSJ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา