หรือ Toyota จะมาถูกทาง? Shell ประเทศไทย ลั่น รถยนต์ไฮโดรเจนดีกว่าแบตเตอรี่ไฟฟ้า

ชวนอ่านมุมมองของ Shell ประเทศไทยต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยเสนอว่า รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตควรจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 100% (แล้วแปลงเป็นไฮโดรเจน) ไม่ปล่อยแบตเตอรี่ไฟฟ้าครองตลาดแต่เพียงผู้เดียว

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

ในระหว่างการประกาศแผน “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” ของ Shell ประเทศไทย โดยระบุว่ามี 3 แนวทาง Shell ต้องการเดินหน้าคือ

  1. พัฒนานวัตกรรมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เพื่อทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
  2. พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  3. พัฒนาศักยภาพของคนในประเทศ เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของพลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนด้านบนสอดคล้องกับทิศทางของ Shell ในระดับโลก ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าแปลกใจอะไร เพราะ Shell เน้นเรื่องพลังงานสะอาดมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้ว และเอาเข้าจริงถ้าไปเปิดพอร์ตของ Shell ในปัจจุบัน จะพบว่า ธุรกิจแก๊สในปัจจุบันสูงกว่าธุรกิจน้ำมันไปเรียบร้อยแล้ว

มุมมองของ Shell ต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้า คือ EV ไฮโดรเจน-เชื้อเพลิงชีวภาพ

Brand Inside พบว่า หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของงานครั้งนี้คือ

มุมมองของ Shell ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เล่าให้ฟังในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่มว่า แนวทางของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ “แบตเตอรี่ไฟฟ้า” เท่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายแบบ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel)

“ทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ที่ใช้งานกัน ยังมีราคาสูง หากเกิดการใช้งานจำนวนมาก จำเป็นจะต้องใช้โครงสร้างมารองรับอย่างมหาศาล ทั้งการลงทุนโรงไฟฟ้า เคเบิลลงดิน และสุดท้ายอาจตามมาด้วยการเพิ่มภาษีไฟฟ้า ประชาชนจะรับได้หรือไม่ เพราะหากแบตเตอรี่ไฟฟ้าบูมขึ้นมา รัฐจะสูญเสียภาษีจากน้ำมัน ก็หมายความว่ารัฐจะต้องเก็บภาษีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่”

  • Shell จึงเสนอว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตควรจะใช้เชื้อเพลิงพลังงานจากเอทานอล 100%

ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการคือ เป็นการส่งเสริมจุดแข็งด้านเศรษฐกิจที่เน้นการเกษตรของไทยและในภูมิภาคนี้ เช่น อุตสาหกรรมการปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนอีกประการคือความยั่งยืนที่มากกว่าแบตเตอรี่ในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

รถยนต์ไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวภาพ เอทานอล-ไฮโดรเจน เป็นเรื่องเดียวกัน

เชื้อเพลิงชีวภาพหรือเอทานอล 100% ที่ Shell เสนอให้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตควรใช้ นับเป็นเรื่องเดียวกันกับรถยนต์ไฟฟ้าไฮโดรเจนที่ทาง Toyota ส่งเสริมและสนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน

Shell อธิบายในทางเทคนิคเพิ่มเติมให้ฟังว่า เชื้อเพลิงเอทานอล 100% เมื่อเติมเข้าไปในรถยนต์ไฟฟ้าจะแปลงเป็นไฮโดรเจนและกลายเป็นอิเล็กตรอน นั่นหมายความว่า รถยนต์ไฟฟ้าไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงชีวภาพใช้เซลล์พลังงาน (fuel cells) เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ Toyota เป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์เพียงไม่กี่รายของอุตสาหกรรมที่ประกาศชัดว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะยังไม่มาในเร็วๆ นี้ ทางบริษัทจึงเดินหน้าลุยรถยนต์ไฮบริดและไฮโดรเจนต่อไป แต่ดูแล้วมุมมองต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของ Shell ค่อนข้างสอดรับและไปได้ดีกับวิสัยทัศน์ของ Toyota เพราะฉะนั้น จึงน่าติดตามดูต่อว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป และใครจะเป็นผู้ชนะในสนามนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา