เมื่อหลายปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ของ 3 ประเทศ ได้แก่ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เคยจับมือร่วมกันทดลองเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์ในโครงการชื่อที่เรียกว่า ASEAN Trading Link ถ้าหากโครงการนี้สำเร็จแล้วจะเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียนต่อไป แต่วันนี้เหลือเพียงแค่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ที่จะเชื่อมต่อกันภายในปลายปีนี้
ข่าวดีดังกล่าวมาจากนายกรัฐมนตรีของทางมาเลเซียได้ประกาศว่า โครงการเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองจะเริ่มอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ที่เชื่อมต่อกันมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกประมาณ 1,600 บริษัท การเริ่มต้นเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศเริ่มจากปลายปีที่แล้วที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้พบปะหารือกันเรื่องของการเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์ใหม่อีกรอบ
แก้ปัญหาของ ASEAN Trading Link
4 เดือนก่อนหน้าที่จะเกิดการประกาศเชื่อมต่อของทั้งสองตลาด Bloomberg ได้รายงานว่าโครงการ ASEAN Trading Link ได้ปิดตัวไปอย่างเงียบๆ หลังจากได้มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2012 โดยทาง Ranjit Ajit Singh ซึ่งเป็นประธาน กลต. ของทางมาเลเซียได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Reuters ว่าปัญหาของ ASEAN Trading Link ที่ปิดตัวลงไปคือปัญหาในเรื่องของโครงสร้างการที่ซับซ้อน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาโครงสร้าง รวมไปถึงเรื่องสำคัญคือปัญหาการชำระราคาที่ไม่ตรงกัน เขาเองได้กล่าวว่าปัญหาทั้งหมดได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว
แรงกดดันจากการเชื่อมต่อกันของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
Song Seng Wun นักวิเคราะห์จาก CIMB มองว่าการเชื่อมต่อระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ และรวมไปถึงเซิ่นเจิ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในอเาซียนได้รับแรงกดดันมากขึ้น โดยเพื่อที่จะไม่ให้ตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองโดนตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ทิ้งห่าง ทั้งสองตลาดจึงต้องเชื่อมต่อตลาดกันอีกรอบ สอดคล้องกับ Sharnie Wong นักวิเคราะห์ของทาง Bloomberg เองที่มองว่ายิ่งปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ยิ่งมากเท่าไหร่ แรงกดดันที่จะต้องเชื่อมต่อตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนย่อมมากขึ้น
Brand Inside เคยเสนอข่าวเรื่องของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ และรวมไปถึงเซิ่นเจิ้น มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยปีล่าสุดมีปริมาณมากกว่าครั้งที่เริ่มเปิดการซื้อขายถึง 60 เท่า ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเทคโนโลยีอยากจะนำบริษัทตัวเองไป IPO ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณซื้อขายเยอะๆ
แลกเปลี่ยนบทวิเคราะห์ระหว่าง 2 ตลาดด้วย
นอกจากการซื้อขายหลักทรัพย์แล้วเรื่องของการชำระราคาระหว่างกันก็จะเกิดขึ้นทั้งสองตลาดด้วยแล้ว การเชื่อมต่อตลาดยังก่อให้เกิดเรื่องของการทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ข้ามตลาดกันอีกด้วย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศสิงคโปร์อาจทำบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารในมาเลเซีย เป็นต้น โดย CEO ของทาง Areca Capital ได้กล่าวว่าการเชื่อมตลาดทั้งสองจะทำให้หุ้นขนาดกลางและเล็กในตลาดหลักทรัพย์อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นที่รู้จักของนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น
นักวิเคราะห์ยังหวังว่าประเทศอื่นจะเข้าร่วมด้วย
Nicholas Teo นักกลยุทธ์จาก KGI ประเทศสิงคโปร์ได้กล่าวว่า ตัวเขามองเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นอีก โดยเขาหวังว่าประเทศไทยและเวียดนามจะเข้าร่วมการเชื่อมต่อครั้งใหม่นี้อีกครั้ง แล้วทำให้ตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ขึ้นจากการเชื่อมต่อครั้งใหม่นี้
ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในจุดนี้
การที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้งในปลายปีนี้อาจทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยเสียโอกาสมหาศาล อาจทำให้นักลงทุนฝั่งสถาบันเช่น ประกันภัย กองทุน ฯลฯ จากต่างประเทศมีความสนใจสองตลาดที่เชื่อมต่อกันมากกว่า เพราะว่ามูลค่าของตลาดทั้งสองตลาดรวมกันมีขนาดที่ใหญ่กว่าตลาดหลักทรัพย์ของไทยมาก และทำให้หุ้นขนาดกลางและเล็กของไทยจะเสียโอกาสจากนักลงทุนสถาบัน ทั้งๆ ที่หุ้นของไทยหลายๆ ตัวมีพื้นฐานดีกว่าหุ้นขนาดกลางหรือเล็กของมาเลเซียหรือสิงคโปร์ รวมไปถึงเรื่องสภาพคล่องที่สองตลาดเชื่อมต่อกันแล้วย่อมดีกว่าอีกด้วย
แม้ว่าต่อให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะพยายามเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงหรือประเทศกลุ่ม CLMV ก็ยังไม่เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนสถาบันต่างชาติในช่วงนี้อยู่ดี เพราะว่าประเทศเหล่านี้ตลาดหลักทรัพย์พึ่งตั้งได้ไม่นาน อีกทั้งยังมีมาตรฐานทางด้านบัญชียังด้อยกว่า ยังไม่นับว่าประเทศเหล่านี้ยังอยู่ในระดับ Frontier Market ซึ่งด้อยกว่าอีกด้วย ซึ่งยังไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในช่วงเร็วๆ นี้แน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา