วันนี้ (12 ก.พ. 2567) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงข้อสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย (peer exchanges) เพื่อยกระดับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีความโปร่งใส และเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้ลงทุนทุกประเภท
อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จัก Program Trading-ระบบคอมพิวเตอร์ซื้อขายหุ้น กับข้อสงสัยว่าเป็นตัวป่วนตลาดหุ้นไทย?
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาพบว่า ในภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยมีกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการทำ short selling และ program trading ที่สามารถเทียบเคียงได้กับ peer exchanges แล้ว อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณา เพื่อที่จะเป็นมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศในปัจจุบัน
ซึ่งในเบื้องต้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้
1) การควบคุม (Control): การเพิ่มกลไกการควบคุม program trading และลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งในภาพรวมและในกรณี short selling อาทิ การกำหนดแนวทางในการติดตามการทำธุรกรรม short selling หรือการมีกลไกควบคุมราคาเพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
2) การรายงาน (Reports): การปรับปรุงรายงาน short selling เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและการติดตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน
3) การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ (Monitoring & Enforcement): โดยการเน้นย้ำความคาดหวังต่อบริษัทสมาชิกในการดูแลให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับบทลงโทษให้มีความเข้มข้น
4) การแบ่งความรับผิดชอบ (Responsibility): ซึ่งจะมีการนำเสนอกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดูแลการทำ short selling และ program trading ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้โดยตรงและรวดเร็ว
ผลที่ได้จากการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน จะสามารถทำให้การป้องกันการทำธุรรรม naked short selling และการทำธุรกรรม program trading ที่ไม่เหมาะสม ทำได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาแล้ว และเห็นควรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำข้อเสนอของที่ปรึกษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้นำเรื่องที่จะปรับปรุงไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป
ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา