ทำความรู้จัก Program Trading-ระบบคอมพิวเตอร์ซื้อขายหุ้น กับข้อสงสัยว่าเป็นตัวป่วนตลาดหุ้นไทย?

หลายเดือนมานี้ ประเด็นร้อนในตลาดการลงทุนมีมากมาย หนึ่งในเรื่องที่หลายคนจับตามองคือ Program Trading ซึ่งหมายถึง การซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ โดยเราเห็นข้อถกเถียงตั้งแต่ การใช้โปรแกรมเหล่านี้มีส่วนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหรือไม่ ไปจนถึงเครื่องมือนี้สร้างความไม่เป็นธรรมในตลาดหุ้นหรือเปล่า

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง จนฝั่งกระทรวงการคลังออกมาให้ข่าวเรื่อง Program Trading ว่ามีการหารือกับ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เพื่อให้ทบทวนและศึกษาผลกระทบจากการใช้งานที่เกิดขึ้น หลายสำนักข่าวระบุว่า หากมีผลกระทบมากอาจยกเลิกโปรแกรมนี้ แต่ในวันถัดมาทาง ก.ล.ต. กลับออกมาบอกว่า จะไม่ยกเลิก Program Trading แต่ต้องทบทวนหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ให้มากขึ้น

ดังนั้นก่อนจะไปทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น Brandinside อยากชวนมา ทำความรู้จัก Program Trading กันก่อน

Program Trading คืออะไร?

ในโลกของการลงทุนไม่ว่าจะไทยหรือต่างระเทศ แต่ละวันธุรกรรมการซื้อ–ขายหุ้นเกิดขึ้นมหาศาล ในอดีตเมื่อ นักลงทุนรายย่อย หรือสถาบันต้องการซื้อหรือขายหุ้นสักตัว อาจต้องใช้พนักงานในการกดซื้อหรือขาย ในราคาและเวลาที่ต้องการ แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีการปรับใช้เทคโนโลยีในการลงทุนอย่างแพร่หลาย จนเกิดเครื่องมือการลงทุนจากระบบคอมพิวเตอร์ในหลายรูปแบบที่สามารถกำหนดการ ‘ซื้อ’ หรือ ‘ขาย’ ในเวลาและราคาที่ต้องการ และสามารถส่งคำสั่งได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งบริการนี้เหล่านี้อาจมีชื่อและฟีเจอร์ช่วยลงทุนที่แตกต่างกันไป เช่น Algorithmic Trade, AI, Robot Trade ฯลฯ ขึ้นอยู่กับบริการของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์

ทั้งนี้ด้าน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เคยให้คำนิยาม Program Trading  (PT) ไว้เมื่อปี 2562 ว่า เป็นการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนสำหรับการส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยใช้โปรแกรมการคัดเลือกและส่งคำสั่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยอัตโนมัติซึ่งไม่สามารถถูกแทรกแซงขั้นตอนการส่งคำสั่งได้ ซึ่งเมื่อลูกค้าจะใช้ Program Trading บริษัทหลักทรัพย์จะตกลงเงื่อนไขคำสั่งต่างๆ กับลูกค้าก่อน (เช่น ซื้อขายหุ้นอะไร ราคาไหน กลยุทธ์แบบใด ฯลฯ ซึ่งลูกค้ามักจะสามารถตั้งค่าเองได้ด้วย หรือบริษัทหลักทรัพย์อาจเสนอบริการ แะฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติม)

ดังนั้นจากทั้งหมดนี้อาจสรุปเป็นคำพูดแบบง่ายๆ ว่า Program Trading เป็นบริการเทรดหุ้นแบบอัตโนมัติ โดยฝั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีการเรียกการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ว่า Program Trading และรวบรวมสถิติทั้งมูลค่า Program Trading รายวันและมูลค่าการซื้อขายในหลักทรัพย์ในแต่ละหลักทรัพย์แสดงผ่านเว็บไซต์ 

Program Trading หรือการเทรดหุ้นอัตโนมัติในไทยและโลกมีมากแค่ไหน?

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บมจ. บัวหลวง เล่าว่า ในตลาดต่างประเทศแต่ละประเทศมีสัดส่วนการใช้ Program Trading แตกต่างกันไป อย่างในสหรัฐฯ มีสัดส่วนมากกว่า 50% ขณะที่ญี่ปุ่นมีการเทรดในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน โดยบางส่วนอาจเป็นกลุ่ม Swing Trade ที่ซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

ในส่วนของไทย ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า มีสัดส่วนการใช้ Program Trading ราว 35-40% ของมูลค่าการซื้อขายของตลาด ล่าสุด 19 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ภาพรวมตลาด SET และ mai โดยมูลค่าการซื้อด้วย Program Trading อยู่ที่ 12,975.33 ล้านบาท คิดเป็น 36.5% ของมูลค่าการซื้อทั้งหมดที่อยู่ 35,494.85 ล้านบาท 

จากถกเถียงว่า Program Trading ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์เข้ามาตรวจสอบบ้างหรือยัง?

เมื่อเราดูดัชนีหุ้นไทยนับจากต้นปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงต้นปี (3 ม.ค.) ที่อยู่ราว 1,678.97 จุด จนถึงปัจจุบัน (20 ธ.ค.) อยู่ที่ราว 1,400.78 จุด ยิ่งแสดงให้เห็นความไม่แน่นอนและผลกระทบของปัจจัยลบที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี และบางช่วงมีข้อสงสัยรวมถึงความกังวลจากนักลงทุนไทยว่า Program Trading ของนักลงทุนต่างชาตินี้เป็นส่วนหนึ่งที่ ‘ทุบตลาดลง’ หรือไม่?

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

จากข้อสงสัยเหล่านี้ทำให้ SET ออกบทความและแถลงข่าวเพื่ออธิบานเรื่องเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง โดยครั้งเมื่อ 15 ส.ค. ออกบทความเพื่อตอบข้อกังวลเรื่องเหล่านี้ว่า 

“ความเชื่อที่ว่า Program Trading และ High-FrequencyTrading ของผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายและทำ Short Sale จนกดดันราคาหุ้นในตลาดให้ร่วงลงแรง อาจเป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อนไป เนื่องจากหุ้นที่ระดับราคาลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ซื้อขายกันโดยผู้ลงทุนบุคคลเป็นหลัก อีกทั้งการขาย Short Sale โดยผู้ลงทุนต่างชาติที่ใช้ Program Trading ยังอยู่ในระดับต่ำมากอีกด้วย”

(เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อขายหุ้นในช่วงปี 2565 ถึงไตรมาส 1 ปี 2566 อ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่นี่)

ขณะเดียวกันวันที่ 9 พ.ย. 2566 มีการแถลงข่าวร่วมกันในหัวข้อการติดตามสภาวะตลาดทุนร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยยืนยันว่าจากการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดไม่พบความผิดปกติ ตามข้อสงสัยที่ว่าผู้ลงทุนต่างชาติทำ Short Sale และโปรแกรมเทรดอัตโนมัติทุบตลาดหุ้นไทยอย่างหนัก (ข้อมูลจาก Infoquest)

ขณะที่ช่วง ธ.ค. 2566 นี้กระแสนี้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง โดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นบน Facebook ว่า “เลิก Program Trading… จะดี” หลังจากนั้นนักข่าวจึงนำไปสอบถามความเห็นของ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้สัมภาษณ์กับหลายสื่อว่า ได้มอบหมายให้ก.ล.ต.ไปพิจารณา ว่า Program Trading มีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ถ้าหากตรวจสอบแล้ว พบว่ามีผลกระทบ และไม่ควรมีการใช้ Program Trading ก็ต้องมีมาตรการหรือประกาศยกเลิกต่อไป (ประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ)

และในวันถัดมา (16 ธ.ค.) ฝั่งก.ล.ต. ยืนยันมาว่าไม่ได้มีธงที่จะยกเลิกการใช้ Program Trading โดยข้อมูลจากสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยระบุว่า พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า อยู่ระหว่างทบทวนแนวทางในการบริหารจัดการ Program Trading และ high-frequency trading (HFT) ให้สอดคล้องกับมาตรการตามหลักสากล

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายแห่งต่างมองว่าการใช้ Program Trading มีผลกระทบในหลายด้าน โดยช่วงที่ผ่านมาการใช้ Program Trading ยังมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องและสัดส่วนการเทรดในตลาดหุ้นไทยให้เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า สัดส่วนแค่ไหนที่เหมาะสม?

สุดท้ายนี้ ท่ามกลางฝุ่นตลบที่เกิดขึ้นว่า Program Trading ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจริงหรือไม่ และจะมีการปรับเปลี่ยนไปทางใด แต่การยกเลิกใช้ Program Trading ยังเป็นเรื่องยากเพราะทั่วโลกยังมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่ช่วยกำหนดการซื้อ-ขาย

ดังนั้นยังต้องติดตามกันต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการปรับกฎเกณฑ์ ควบคุม หรือจำกัดสัดส่วนการใช้ Program Trading อย่างไรในอนาคต 

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 1, 2, 3, 4, ประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา