สื่อนอกรายงาน SET เตรียมแผนปฎิรูปรับมือตลาดหุ้นหลังการเลือกตั้ง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนหลังปีที่ผันผวน โดย SET สรุปแผนการสร้างมาตรฐานการรายงาน และการจดทะเบียนฯ ใหม่ภายในสิ้นปี 2023 ซึ่งจะสร้างมาตรการเดียวกันสำหรับการทำ IPO (กิจการที่เข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก) และ Backdoor listing ตามการเผยแพร่ดัชนีใหม่ SET50 / SET100 Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted Index ในต้นปี 2567

ทั้งนี้ การปฏิรูปดังกล่าวเกิดขึ้นในปีที่มีความไม่แน่นอนมากมาย ซึ่งไทยกลับมีผลการดำเนินงานออกมาต่ำที่สุดในตลาดเอเชีย ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงจากธนาคารกลางหลัก ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางของไทย นอกจากนี้ยังมีกรณีราคาพุ่งขึ้นของ Delta และ กรณีอื้อฉาวของ Stark 

วันนี้ (23 ส.ค.) Set Index เปิดตลาดบวก 0.3% หลังจากมติการเลือกนายกรัฐมนตรี ออกมาเป็น เศรษฐา ทวีสิน อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บมจ. แสนสิริ (SIRI)

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ SET กล่าวในสัมภาณณ์พิเศษกับ Nikkei Asia ว่า ปีแห่งความผันผวนที่ผ่านมา เป็นเหมือนการกระตุ้นให้เกิดการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยกฎเกณฑ์ใหม่เหล่านี้จะช่วยในการระบุอย่างเฉพาะเจาะจง ขยายผลและการเพิกถอนในบริษัทที่มีปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แม้ในสภาวะที่ตลาดยังเติบโตได้ดีในสภาวะปกติ แต่การตอบสนองต่อกรณีปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังเป็นเรื่องสำคัญ โดยการปฎิรูปครั้งนี้จะมีสามส่วนหลัก ทั้ง Data-oriented reporting tool หรือเครื่องมือในการรายงานข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้กำกับดูแลและนักลงทุนตรวจสอบงบการเงินและการซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังลดภาระการรายงานของบริษัทจดทะเบียน 

SET มีแผนที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือการแจ้งเตือนนักลงทุนในหุ้นที่มีปัญหา เช่น กรณี Stark ส่วนดัชนีถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) จะเริ่มใช้ในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองว่าตลาดหุ้นไทยควรมีบริษัทในอุตสาหกรรม S-curve ที่มีการเติบโตสูงให้มากขึ้น โดยในปี 2564 พบว่า จากจำนวนหุ้น IPO ที่ 41 บริษัท กว่า 15% อยู่ในอุตสาหกรรม S-curve ซึ่งในไทยพบกว่ากลุ่มบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม S-curve มักเป็น Startup ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล, ด้านอาหารและ Biotechnology, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์, ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพบว่าในปี 2565 สัดส่วนธุรกิจเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็น 21% จากหุ้น IPO ทั้ง 42 บริษัท

อย่างไรก็ตามในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ นับจากหลังการเลือกตั้งของไทยในเดือน พ.ค. 2566 ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทยกว่า 55,000 ล้านบาท (ราว 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องในรอบ 6 เดือน

ส่วนในประเด็นด้านผลกระทบการเมืองต่อตลาด ภากร ระบุว่า จุดเด่นของเศรษฐกิจไทยคือ ภาค Real Sector และการเมืองค่อนข้างแยกออกจากกัน ส่วนในคำถามที่ว่า หากการเมืองเริ่มมีความชัดเจนขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้น ภากร ตอบว่า แน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตภาค Real Sector ยิ่งขึ้น

ที่มา – Nikkei Asia

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา