ผ่าอาณาจักร Sea Group บริษัทเทคที่รวยที่สุดในอาเซียน

บทความโดย วัฒนพงศ์ จัยวัฒน์ และ ธงชัย ชลศิริพงษ์

Sea Group นอกจากจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (Market Cap ระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ ใหญ่กว่า Market Cap ของปตท. ของไทยประมาณ 3 เท่า)

แต่นอกจากจะยิ่งใหญ่แล้ว Sea Group ยังถือเป็นหนึ่งในผู้ชนะแห่งยุคโควิดด้วย

ในยุคที่ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์ ธุรกิจความบันเทิงอย่างเกมเติบโตอย่างมาก มีรายงานว่าในปีที่ผ่านมา วงการเกมระดับโลกมีเงินสะพัดกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรงแห่งยุคคืออีคอมเมิร์ซ พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นความปกติใหม่ของผู้คนทั่วโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนดูได้จาก Amazon อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลกที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล มูลค่ากิจการพุ่งขึ้นกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์

บริษัทอย่าง Sea Group เองก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ในรอบปีที่ผ่านมา Sea Group มีผลตอบแทนของกิจการมากถึง 421%

ไม่เพียงแค่นั้นหุ้นของ Sea Group เองยังทำให้นักลงทุนทั่วโลกกลับมามองว่ากิจการของบริษัทเทคโนโลยีนี้มีดีอะไรที่ทำให้ผลตอบแทนนั้นมากถึงขนาดนี้ รวมถึงคำถามที่ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นสมรภูมิดุเดือดเลือดสาดของบริษัทเทคโนโลยี

หรือว่าเรากำลังจะเห็นผู้ชนะรายใหม่ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

บทความนี้ Brand Inside จะพาไปเปิดโครงสร้างธุรกิจของ Sea Group ว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงฉายภาพในอนาคตของบริษัทเทคที่รวยที่สุดในอาเซียน

ถ้าแบ่งธุรกิจของ Sea Group ตามงบการเงินของบริษัท จะแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก

  1. ธุรกิจสื่อบันเทิงดิจิทัล (Digital Entertainment) โดย Garena อยู่ในหมวดนี้ ให้บริการกว่าใน 130 ตลาดทั่วโลก มีเกมออนไลน์ชื่อดังทั้งบนมือถือและคอมพิวเตอร์มากมาย เช่น PUBG, League of Legends, ROV,  และแน่นอน เกมมือถือชื่อดังที่ทางบริษัทผลิตขึ้นเองอย่าง Free Fire
  2. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) คือ Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน
  3. ธุรกิจให้บริการทางการเงิน Digital (Financial Services) เช่น AirPay, ShopeePay, SPayLater, และอีกหลายแบรนด์ที่ให้บริการอยู่ในภูมิภาคอาเซียน

ผู้รุ่งเรืองในยุคโควิด แต่ตัวเลขติดลบหมื่นล้าน

สำหรับธุรกิจของ Sea Group อ้างอิงผลประกอบการในปี 2019 รายได้หลักของบริษัทยังอยู่ในอาเซียนมากที่สุด โดยแบ่งเป็น

  • รายได้ในอาเซียน 63%
  • รายได้ในเอเชีย 22%
  • รายได้ในลาตินอเมริกา 13%
  • รายได้อื่นๆ อีก 2%

ขณะที่แยกรายได้เป็นกลุ่มธุรกิจนั้น ธุรกิจความบันเทิงที่มี “เกม” เป็นหัวหอกหลัก ทำรายได้ให้บริษัทมากถึง 52% ทางด้านของธุรกิจ E-commerce อย่าง Shopee นั้นมีสัดส่วนรองลงมา อยู่ที่ประมาณ 38% ขณะที่ธุรกิจการเงินนั้นยังไม่มีรายได้ที่เป็นนัยยะสำคัญมากนัก

ถ้ามามองผลประกอบการในแต่ละปี พบว่า

  • ปี 2017 รายได้รวม 414.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดทุน 560.48 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปี 2018 รายได้รวม 826.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดทุน 961.24 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ปี 2019 รายได้รวม 2,175.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดทุน 1,462.80 ล้านเหรียญสหรัฐ

เรียกได้ว่า ขาดทุนทุกปี แต่รายได้ยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 3 ของปี 2020 พบว่ารายได้รวมของ Sea Group อยู่ที่ 1,212.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดทุน 420 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาท

  • แต่ความน่าสนใจคือ รายได้รวมใน 9 เดือนแรกของบริษัทในปี 2020 นั้นอยู่ที่ 2,809.11 ซึ่งมากกว่าปี 2019 ทั้งปีไปแล้ว
  • ส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัท เติบโตมากกว่าปี 2019 แต่ก็ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายทางการตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ในไตรมาส 3 ของปี 2020 บริษัทยังมีเงินสดเหลืออีกราวๆ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีการระดมทุนเพิ่มเติมเป็นระยะๆ จากราคาหุ้นที่เพิ่มอยู่ตลอด จากปัจจัยสำคัญคือรายได้ของบริษัทที่เติบโตตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ออกไปได้อีก

ข้อมูลล่าสุดค่าเฉลี่ยของนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2021 จะอยู่ที่ 6,721 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กำไรก็ยังคาดว่าจะยังขาดทุนอยู่ในปีนี้ แต่จะลดลงกว่าในปี 2020 นอกจากนี้ยังคาดว่าปี 2022 บริษัทจะมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก หลังจากติดลบมาเป็นเวลานาน

Shopee Lazada ช็อปปี้ ลาซาด้า
Shopee vs. Lazada Photo: Shutterstock

อีคอมเมิร์ซสดใส หรือว่า Shopee จะเป็นผู้ชนะในอาเซียน?

เมื่อกลางเดือนมกราคมปี 2021 รายงานของ Bank of America เปิดเผยว่า อีคอมเมิร์ซในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้านพบว่า ในประเทศไทยศึกการต่อสู้ระหว่าง 2 แพลตฟอร์มอย่าง Shopee และ Lazada กำลังต่อสู้กันในระดับหายใจรดต้นคอ

แต่ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน Shopee กลับเป็นผู้ชนะในศึกอีคอมเมิร์ซไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนาม ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Lazada ส่วนใหญ่ตามมาเป็นอันดับ 2 ในแทบทุกตลาดของภูมิภาคนี้ และที่หนักกว่านั้นคือ บางตลาดก็แพ้ผู้เล่นในประเทศด้วยซ้ำ เช่น อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม

สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งยืนยันว่า Shopee ของ Sea Group เองกำลังจะครองตลาดอาเซียนอย่างเต็มตัว

Sea Group เริ่มรุกคืบเข้ามาในธุรกิจการเงินเยอะขึ้น

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Sea Group เข้าซื้อกิจการในประเทศอินโดนีเซียอย่าง Bank Kesejahteraan Ekonomi หรือ Bank BKE ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เน้นหนักในเรื่อง Online Banking ซึ่งการขยายธุรกิจเข้ามาจากการซื้อธนาคารในประเทศอินโดนีเซียเองจะทำให้ Sea Group เองไม่ต้องขอใบอนุญาต่างๆ ให้เสียเวลา และสามารถใช้แพลตฟอร์มอย่าง SeaMoney ในการให้บริการชาวอินโดนีเซียได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ประกันภัย สินเชื่อ การลงทุน

นอกจากนี้ Sea Group เองยังเป็น 1 ใน 4 ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถเปิดบริการ Digital Banking ในประเทศสิงคโปร์ ยิ่งตอกย้ำถึงความพยายามของ Sea Group ที่ต้องการเข้ามาในอุตสาหกรรมการเงินมากกว่าเดิม และยังเป็นการผนวกธุรกิจเกมส์และ E-commerce ผ่าน SeaMoney ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจการเงินของบริษัท และยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจการเงินออกไปได้อีกมาก

อนาคตของ Sea Group

ไม่ใช่แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นฐานที่มั่นของบริษัท และเตรียมขยายธุรกิจเพิ่มเติมออกไปหลายๆ ประเทศอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ Sea Group เตรียมที่จะบุกตลาดที่มีศักยภาพสูงนั่นก็คือลาตินอเมริกา หลังจากที่บริษัทได้เปิดตัวธุรกิจในประเทศบราซิลในช่วงปี 2019 นอกจากนี้ยังมีข่าวดีที่ว่าในประเทศบราซิล แอปพลิเคชั่นอย่าง Shopee ของบริษัทนั้นมีผู้ใช้งานมากกว่า Amazon ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ข่าวล่าสุดนั้นเริ่มมีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงเตรียมเข้าไปลุยตลาดในลาตินอเมริกาอย่างเต็มตัว รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้นใน LinkedIn แต่การไปที่ตลาดใหม่อย่างลาตินอเมริกานี้ถือว่าไม่ง่ายนักเมื่อคู่แข่งรายใหญ่สุดที่อยู่ในตลาด E-commerce นั่นก็คือ Mercado Libre ซึ่งยังไม่มีใครมาโค่นล้มลงได้ ณ เวลานี้

อ้างอิง – ผลประกอบการไตรมาส 3/2020 ของ Sea Group (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา