ถึง ROV จะโด่งดัง แต่จริงๆ แล้ว Free Fire คืออนาคตที่สดใสในวงการเกมของ Garena

เกมมือถือที่ทำตลาดอย่างหนักในตอนนี้คงไม่พ้น ROV ของ Garena เพราะยิงโฆษณาหลากช่องทาง แถมจัดการแข่งขันชิงรางวัลรวมหลายสิบล้านบาท แต่จริงๆ แล้วยังมี Free Fire เป็นอีกเกมที่ยอดผู้เล่นเติบโตอย่างรวดเร็ว

free fire
Free Fire ของ Garena

Free Fire กับการเดินกลยุทธ์พัฒนาเอง

หากติดตามอุตสาหกรรมเกมมานานก็น่าจะรู้จักชื่อ Garena เพราะเป็นผู้ให้บริการเกมเบอร์ใหญ่จากต่างชาติที่เข้ามารุกตลาดไทย ทั้งเกมคอมพิวเตอร์ และเกมมือถือ แต่ปัจจุบันด้วย Garena ขยายธุรกิจทั้ง E-Commerce ในชื่อ Shopee และ Payment อย่าง Airpay ทำให้ชื่อบริษัทตอนนี้เปลี่ยนเป็นกลุ่ม SEA เพื่อลดความสับสน

และจากการสร้างธุรกิจ E-Commerce และ Payment ขึ้นเอง ทำให้กลุ่ม SEA อยากนำกลยุทธ์นี้มาใช้กับธุรกิจเกมบ้าง เพราะก่อนหน้านี้ Garena จะเป็นผู้ให้บริการ หรือ Publisher ที่ซื้อลิขสิทธิ์เกมจากค่ายผู้ผลิตมาให้บริการ เช่น League of Legends ที่พัฒนาโดย Riot Games หรือ ROV ที่พัฒนาโดย Tencent เป็นต้น

นั่นจึงเป็นที่มาของการซุ่มพัฒนาเกม Free Fire ขึ้นมาในปี 2560 เพราะช่วงนั้นกระแสเกมแนว Battle Royale มาแรงมาก แต่จะให้พัฒนาเพื่อเล่นกับคอมพิวเตอร์อย่างเดียวก็คงปิดโอกาสการทำตลาดเกมมือถือที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และด้วยมือถือตอนนั้นมีหลายสเปก ถ้าจะเพิ่มโอกาสทำตลาดมากขึ้นอีก ก็ต้องทำให้เล่นได้ทุกเครื่อง

ยอดผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นแตะ 450 ล้านในเวลา 1 ปี

Free Fire เริ่มให้บริการช่วงปลายปี 2560 เริ่มให้บริการในไทยต้นปี 2561 หากนับถึงปัจจุบันก็มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกกว่า 450 ล้านคนจาก 130 ประเทศทั่วโลก มีการออนไลน์เพื่อเล่นเกมพร้อมกันถึง 50 ล้านคน รวมถึงเป็นเกมที่มีการดาวน์โหลดสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นเกมแบบ Battle Royale ที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุด

garena
รายได้ไตรมาส 2 ปี 2562 ของกลุ่ม SEA

“Free Fire เป็นเกมยอดนิยมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ รวมถึงตะวันออกกลางโดยอเมริกาใต้นั้นได้รับความนิยมาก สังเกตจากยอดผู้ชมการแข่งขันผ่าน YouTube พร้อมกันถึง 8 แสนคน และเรายังเห็นว่าเกมแนว Battle Royale ยังมีโอกาสพัฒนา และเติบโตได้อีก” Forrest Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่ม SEA กล่าว

แม้จะไม่ได้บอกเป็นตัวเลขชัดเจนแต่ระหว่างการแถลงงบประมาณไตรมาส 2 ปี 2562 กับนักวิเคราะห์ กลุ่ม SEA แจ้งว่า รายได้ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 203% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และการเติบโตนั้นมาจากธุรกิจเกม โดยเฉพาะเกม Free Fire ด้วย

garena
ยอดรายได้ไตรมาส 2 ปี 2562 ของ Garena

ถ้าเจาะไปแค่ธุรกิจเกม Free Fire ก็ยังโดดเด่น

ขณะเดียวกันรายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2562 ธุรกิจ Digital Entertainment หรือกลุ่มเกมต่างๆ ก็สร้างรายได้ให้กลุ่ม SEA ถึง 443 ล้านดอลลาร์ (ราว 13,500 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 219% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจับจ่ายภายในเกมที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเกม Free Fire เช่นกัน

อย่างไรก็ตามถึง Free Fire จะมีเงินรางวัลจากการแข่งขันที่น้อยกว่าเกม ROV เช่นการแข่งขัน Free Fire World Cup 2019 มีเงินรางวัลรวม 1 แสนดอลลาร์ (ราว 3 ล้านบาท) ส่วน AOV World Cup 2019 (นอกไทยให้บริการในชื่อ AOV) มีเงินรางวัลรวม 5 แสนดอลลาร์ (ราว 15.3 ล้านบาท) แต่โอกาสที่เงินรางวัลจะเพิ่มก็มีสูง

rov
เกม ROV ของ Garena

“ในไทย Free Fire ก็ได้รับความนิยม สังเกตจากยอดชมการแข่งขันพร้อมกันหลักล้าน และมีการจัดแข่งขัน Pro League ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 4 ล้านบาทด้วย จากความนิยมนี้เองทำให้ Free Fire เริ่มถูกมองเป็นอีกช่องทางในการทำตลาดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่” วริทธิ์นันท์ ไตรรัตโนภาส ผู้จัดการอาวุโส การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) กล่าว

เล่นได้ทุกเครื่องคือจุดแข็งของ Free Fire

ช่วงต้นบทความได้ระบุไปแล้วว่า Free Fire เป็นเกมที่ Garena พัฒนาขึ้นเอง และชูจุดเด่นเรื่องเล่นบนมือถือได้ทุกรุ่น เพราะตัวแนว Battle Royale ในตลาดค่อนข้างต้องการประสิทธิภาพโทรศัพท์มือถือที่สูง ผ่านการประมวลผลข้อมูลตัวละครในฉากหลายสิบตัว แถมตึก และรถยนต์ต่างๆ ที่ใช้เป็นสิ่งประกอบด้วย

แต่เมื่อ Garena เข้าใจว่าเกมแนว Battle Royale ยังเติบโตได้อีกไกล ผ่านกระแสที่เพิ่งเริ่มมา 2 ปีเศษ ดังนั้นหากพัฒนาเกมแนว Battle Royale ที่ตอบโจทย์ผู้เล่นได้ทุกคน ผ่านตัวเกมที่ไม่ยากจนเกินไป ยิ่งตัวเกมที่เล่นได้กับโทรศัพท์มือถือทุกรุ่นแล้ว มันก็ยิ่งเปิดโอกาสการทำรายได้มากกว่าเดิม

จากความสำเร็จของ Free Fire นั้นชี้ให้เห็นว่าในอนาคต Garena อาจพัฒนาเกมของตัวเองออกมามากกว่าเดิม เพราะมีความเข้าใจตลาดเกมว่าต้องการเกมแบบไหน ยิ่งตัวกลุ่ม SEA มีธุรกิจ E-Commerce และ Payment มันก็ช่วยเพิ่่มความครบครันของการเล่นเกมให้ดีมากกว่าเดิม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การสร้างเกมเองคืออนาคตกลุ่ม SEA

สรุป

จากที่เติบโตโดยการซื้อลิขสิทธิ์เกมมาให้บริการ จนมาถึงการสร้างเกมขึ้นมาเอง ทำให้หลังจากนี้การเติบโตของกลุ่ม SEA ย่อมไม่ใช่การเอาเกมที่มีอยู่แล้วมาให้บริการแน่ๆ แต่น่าจะเป็นการพัฒนาเกม และบริการใหม่ๆ ออกมาด้วยตัวเอง เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และยืนหยัดธุรกิจได้ด้วยตัวเอง

อ้างอิง // ส่วนหนึ่งจากการแถลงงบประมาณไตรมาส 2 ปึ 2562 ของกลุ่ม SEA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา