กู้แบงก์ต้องเลือกประกันบ้านได้ ธปท. สั่งปรับ SCB-KTB เคสบังคับลูกค้าซื้อประกันบ้าน!

หลายครั้งที่การเข้าสาขาธนาคารทำให้เรารู้สึกอึดอัด เพราะพนักงานคะยั้นคะยอให้ซื้อประกันบ้าง ฝากเงินเพิ่มบ้าง ที่สำคัญเวลาเราจะขอสินเชื่อก็ถูกพ่วงขายประกันไปอีก เราต้องอยู่ยากอีกนานเท่าไร?

ภาพจาก Shutterstock

ธปท. สั่งปรับ ธ.ไทยพาณิชย์-ธ.กรุงไทย กรณีบังคับลูกค้าซื้อประกันอัคคีภัย

รณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ธปท. สั่งปรับ ธนาคารกรุงไทย จำนวนเงิน 3,540,000 บาท และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นจำนวนเงิน 3,210,000 บาท เพราะ ธปท. ลงไปสุ่มตรวจล่าสุดเจอว่าสาขาของธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ บังคับให้ลูกค้าทำประกันอัคคีภัยเมื่อเข้ามาขอสินเชื่อบ้าน โดยไม่ให้สิทธิลูกค้าเลือกทำประกันภัยกับบริษัทอื่นๆ (บังคับให้ทำประกันภัยที่เดียวไม่ให้เลือกเจ้าอื่น)

ซึ่งถิอว่าทำผิดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2551 (ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2551) เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 36 ต้องระวางโทษตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เลยมีคำสั่งปรับ

ทั้งนี้ ธปท. เป็นคนกำกับดูแลสถาบันการเงินผ่านแนวทางที่ชื่อว่า Market Conduct (การกำกับดูแลสถาบันการเงินในเรื่องการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่ตรงความต้องการตัวเอง ธปท.จะสุ่มตรวจธุรกรรม และระบบบริการ สม่ำเสมอ

คปภ. ยืนยันห้ามแบงก์พ่วงประกันให้ลูกค้า

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เคยบอกว่า คปภ. หารือร่วมกับ 15 ธนาคารพาณชิย์ วางแนวทางในการกำกับและดูแลการขายประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมการเงิน

และเมื่อเจอข้อร้องเรียน ก็มีแนวทางแก้ปัญหาตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551  ที่ครอบคลุมถึงการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านธนาคาร ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น

  • การทำหน้าที่ในการเสนอขายต้องแสดงให้ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยอธิบายความแตกต่างระหว่างการประกันชีวิตกับการฝากเงินกับธนาคารก่อนเสนอขายทุกครั้ง
  • การทําประกันภัยของลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ห้ามมิให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นใดของธนาคาร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้สำนักงาน คปภ. จึงได้ลงนาม MOU ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อร่วมกันดูแลคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมความเชื่อมั่นให้เกิดกับประชาชน นำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจประกันภัย ลดข้อร้องเรียนและสางปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง

สรุป

ประชาชนเราถูกเอาเปรียบทางอ้อมมานานมาก เพราะเวลาขอสินเชื่อกับแบงค์ มักจะบอกว่าให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษถ้าทำประกันกับบริษัทที่ เป็นเครือข่ายของแบงค์ และยังมีเรื่องที่พนักงานไม่แจ้งให้ชัดเจนอีกมากมายซึ่งผู้บริโภคต้องรับภาระส่วนนี้เสมอ ดังนั้นผู้กำกับไม่ว่าจะเป็นคปภ. ก.ล.ต.ต้องให้ความสำคัญเรื่องการ สร้างมาตรฐานการบริการทางการเงิน เพราะเกี่ยวพันถึงชีวิตและความเป็นอยู่ แต่จะแก้ยังไงได้บ้าง ต้องเริ่มต้นที่ประชาชนมีความรู้ในสิทธิ ของตนเองด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา