ทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ต้องมีผู้จัดการใหญ่ 4 คน?

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ออกแผน SCB Transformation พร้อมๆ กับแผนตีลังกากลับหัว (Upsize down) ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน ล่าสุด 5 ก.พ. SCB ประกาศแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่ถึง 4 คน เพราะอะไรกัน?

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์

ทำไม SCB ต้องมีผู้จัดการใหญ่ถึง 4 คน

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 2562 ธนาคารปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงโดยจะมีผู้จัดการใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 4 คน (จากเดิม อาทิตย์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และ CEO)

จากนี้ไปบทบาทของผู้ใหญ่ในองค์กรจะเปลี่ยนเป็นโค้ช ผมจะดูแลเรื่องใหญ่ๆ ของแบงก์ เรื่องของคน เรื่องการบริหารความเสี่ยง และเรื่องยุทธศาสตร์ Partnership เท่านั้น ที่เหลือจะเริ่มส่งไม้ต่อไปที่ผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่าน ผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่านก็ต้องส่งไม้ต่อเป็นทอดๆ ลงไป”

ทั้งนี้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปเป็นแบบ Agile และทำงานร่วมกันมากขึ้นในทุกฝ่าย การทำงานแบบ agile คือการดึงคนในแต่ละฟังก์ชั่นมารวมทีมกันเพื่อคิดค้น ทดลอง ทำงานให้ง่ายขึ้น เพราะทีมนี้ไม่ต้องวิ่งไปหาผู้ใหญ่แต่ละสายเหมือนในอดีต ดังนั้นจะเห็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงจะเปลี่ยนไป ระบบขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน ใช้เวลานานจะลดลง รวมถึงการประชุมจำนวนมากที่ไม่เกิด Productivity จะหมดไป

“เราจะก้าวเข้าสู่ Agile Organization เริ่มต้นที่ผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 คนได้แก่ อรพงศ์ เทียนเงิน, อารักษ์ สุธีวงศ์, อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ และสารัชต์ รัตนาภรณ์ จะเห็นว่าทุกคนไม่มีห้องทำงานส่วนตัว แต่จะทำงานด้วยกันอยู่ด้วยกันทั้ง 5 คนรวมถึงผมด้วย”

ข้อดีของ Agile ทำงานเหมือนเป็นร่างเดียวกันแต่มี 4 CPU

อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า จากเดิมที่คุณอาทิตย์เป็น CEO และผู้จัดการใหญ่ (President) แต่ตอนนี้แบ่งงาน President ออกมาเป็น 4 ท่าน 

“แม้ว่าคณะผู้จัดการใหญ่จะมี 4 คน แต่เราจะทำตัวเหมือนคนเดียวที่มี 4 CPU ที่ช่วยกันทำงาน ผลักดันในทุกเรื่องซึ่งเมื่อคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ อีก 3 คนจะช่วยสนับสนุนช่วยคิดไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญคือเราจะสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นทั้งองค์กร ไม่มีการสร้างกรอบทำงานแต่ละฝ่ายเหมือนในอดีต ทุกคนสามารถทำงานด้วยกันได้เพื่อเป้าหมายเดียวกัน”

อย่างไรก็ตามการทำงานของคณะผู้จัดการใหญ่จะมุ่งเน้น SCB Transformation ใน 4 เสาหลัก ได้แก่ 1. Customer Centric 2. Risk Culture 3. Innovation 4.Speed

ประวัติ 4 ผู้จัดการใหญ่ใครเป็นใคร?

อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

อรพงศ์ เทียนเงิน เข้ามาร่วมงานกับ SCB เมื่อปี 2560 ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจุบันนอกจากรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารไทยพาณิชย์) และกรรมการบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด

ก่อนจะทำงานที่ SCB คุรอรพงษ์เคยเป็น MD ของ Microsoft (Thailand) , Accenture ฯลฯ จบการศึกษาปริญญาด้านวิศวกรรมและการบริหารธุรกิจ

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ เข้าร่วมงานกับ SCB ตั้งแต่ปี 2553 ในงานด้าน Corporate จนปี 2560 ขึ้นรับตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Strategy Officer ที่ดูแลยุทธศาสตร์องค์กรและพัฒนาธุรกิจของธนาคาร ปัจจุบันยังเป็นเลขานุการบริษัท และกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ดร.อารักษ์เคยทำงานที่บริษัท McKinsey & Company ในภูมิภาคอาเซียน รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการเงินให้หลายธุรกิจเช่น โทรคมนาคม เทคโนโลยี พลังงาน และหน่วยงานของรัฐ จบการศึกษาปริญญาตรี โท และเอกในสายวิศวกรรมศาสตร์

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ตำแหน่งก่อนหน้านี้คือ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Retail Lending Products ผู้บริหารสูงสุด Retail Payment  และผู้บริหาร Facility Management ที่ไทยพาณิชย์ โดยรวมงานกับ SCB มาตั้งแต่ปี 2551

โดยก่อนจะเข้าวงการธนาคาร อภิพันธ์ทำงานด้าน Retail ในบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง และ บริษัท เทสโก้ ประเทศไทย นอกจากนี้ยังจบปริญญาด้านการเงินและบัญชี รวมถึง M.B.A. สาขาบริหารธุรกิจ 

สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

สุดท้าย สารัชต์ รัตนาภรณ์ เคยดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล และผู้บริหารสูงสุดเครือข่ายสาขา ของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเข้าทำงานใน SCB ตั้งแต่ปี 2552 ด้านธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Segment) ก่อนหน้านี้เคยทำงานกับธนาคารระดับโลกเช่น ธนาคารดอยซ์แบงก์ ธนาคาร เจพีมอร์แกน เชส ทั้งนี้มีปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์และ M.B.A. 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง