SCB EIC ระบุ ภาคการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคมหดตัวลง -1.1% จากเดือนก่อน สะท้อนว่าการส่งออกมีแรงส่งที่ชะลอตัวลง จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทั้งในประเทศและในหลายตลาดทั่วโลก
แม้การส่งออกแบบเทียบกับปีก่อนหน้าจะเติบโตได้ถึง 20.3% แต่ทาง EIC ชี้ว่าเป็นการเติบโตด้วยปัจจัยฐานต่ำจากการระบาดครั้งแรกในปีที่ผ่านมา จึงเหมาะกว่าที่จะมองการส่งออกของไทยแบบเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ความเสี่ยงฝั่งผู้ซื้อ: การส่งออกไปยังต่างประเทศเริ่มชะลอตัว
ความเสี่ยงจากฝั่งผู้ซื้อส่งสัญญาณกดดันภาคการส่งออกไทย การระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดทั่วโลกทำให้การส่งออกไทยไปยังหลายตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง มีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
ความเสี่ยงฝั่งผู้ขาย: ผลิตไม่ได้ เพราะมีการระบาดหนัก
สาเหตุอีกอย่างที่กดดันส่งออกไทยหลังจากนี้คือ โรงงานในประเทศเริ่มปิดตัวชั่วคราวมากขึ้น มีการพบผู้ติดเชื้อในโรงงานเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม โลหะ และ พลาสติก
ปัจจุบันมีการระบาดในโรงงานกว่า 749 แห่ง และพบผู้ติดเชื้อในโรงงานทั้งสิ้น 53,135 คน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคการผลิตทั้งในไทยและอาเซียนเตรียมลดการผลิตลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI Manufacturing) ของไทยและอาเซียนที่ลดลงต่ำกว่า 50 ซึ่งหมายถึงภาคการผลิตจะมีการจัดซื้อที่ลดลง
- PMI Manufacturing ของ ไทย อยู่ที่ 48.7
- PMI Manufacturing ของ อาเซียน อยู่ที่ 44.6
สรุป
การชะลอตัวของภาคส่งออกที่เกิดขึ้น ยังสอดคล้องกับประมาณการส่งออกของ EIC ที่เคยมองไว้ว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะชะลอความร้อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วง ปลายปีก่อน รวมถึงปัญหาผลกระทบการระบาดรอบล่าสุดทั่วโลกที่ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จึงยังคงคาดการณ์ส่งออกปี 2021 ที่ 15.0%
หลังจากนี้ ต้องจับตาความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการระบาด COVID-19 รอบล่าสุด ที่กระทบทั้งด้านอุปสงค์ (ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก) และด้านอุปทาน (การปิดโรงงาน ในประเทศ และปัญหา supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้น)
ที่มา SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา