SCB EIC ปรับลด GDP ไทยปีนี้กรณีแย่สุดที่ –7.2% ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง

SCB EIC ปรับคาดการณ์ GDP ไทยอีกรอบ โดยล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจถดถอยที่ -5.6% ขณะที่กรณีแย่สุดอาจ -7.2% ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง

Bangkok Siam Square COVID-19 Silent
ภาพจาก Shutterstock

SCB EIC ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -5.6% จากเดิมที่ -0.3% ขณะที่กรณีแย่สุดนั้นอยู่ที่ -7.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง สาเหตุสำคัญมาจาก เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย มาตรการปิดเมืองของไทย และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้าจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความอ่อนแอของภาคการส่งออกของไทยที่ได้รับผลจากสภาวะภายนอก

สำหรับมุมมองภาพใหญ่นั้น SCB EIC ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะถดถอย โดยคาดว่าจะหดตัวที่ -2.1% จากผลกระทบหลักคือ COVID-19 ทั้งนี้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกประกอบกับปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิตที่ชะงักไปนั้นจะมีเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทยอีกทาง

ประเด็นหลักๆ ที่ SCB EIC ต้องปรับคาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทยอีกครั้งประกอบไปด้วย

  1. เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นผลจาก COVID-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากที่ -12.9% ในปีนี้
  2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัวที่ -67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้
  3. การประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งแม้เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่จะส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ Face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ SCB EIC ยังมองว่า มาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อแรงงานและภาคธุรกิจ มาตรการที่ได้จัดทำไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ที่ถูกกระทบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดภาษี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน

อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่าหลังจากนี้ภาครัฐจะเร่งดำเนินการออกมาตรการการคลังเพื่อชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ตกงานหรือสูญเสียรายได้จาก COVID-19 ทั้งในส่วนการโอนเงินให้กับผู้ถูกกระทบจำนวน 3 ล้านคนที่ประกาศไปแล้ว และการเพิ่มวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทบได้มากขึ้น ผ่านการออก พรก. กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการอัดฉีดเงินให้ถึงมือของผู้เดือดร้อนได้ตรงจุดและประคับประคองเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

สำหรับตัวเลขคาดการณ์ที่ -5.6% นั้น SCB EIC เพิ่มสมมติฐานของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พรก. กู้ฉุกเฉิน จำนวน 200,000 ล้านบาทไว้ในการประมาณรอบนี้ด้วย

ที่มาบทวิเคราะห์จาก SCB EIC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ