สังคมไทยไม่พร้อมเกษียณ ภาระเยอะ เงินเก็บน้อย แก่ก่อนรวย

ทุกคนอาจจะไม่รู้ว่า ราว 42% ของครัวเรือนไทยมี ‘หัวหน้าครอบครัว’ ที่มีอายุเกิน 50 ปีและมีรายได้ต่ำ ทำให้ต้องพึ่งพารายได้จากนอกครัวเรือนถึง 1 ใน 3 เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐ เงินช่วยเหลือจากคนนอกครัวเรือน รายได้ไม่เป็นตัวเงิน หรือสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับมา นอกจากนั้น ยังมี ‘สินทรัพย์ทางการเงิน’ ติดตัวหลังเกษียณแค่ 9 เท่าของรายจ่ายแต่ละเดือน

Willian Justen de Vasconcellos / Unsplash

หรือพูดง่ายๆ คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีบ้านที่พึ่งพา ‘ผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำ’ มากถึง 42% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยรายได้จากการทำงานของผู้สูงวัยเหล่านี้ไม่พอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ทำให้ต้องพึ่งเงินช่วยเหลืออื่นๆ มากถึง 1 ใน 3 และผู้สูงวัยเหล่านี้ยังมีเงินติดตัวสำหรับใช้จ่ายได้แค่ 9 เดือนเท่านั้น แปลว่าถ้าเมื่อไรที่ไม่มีเงินช่วยเหลือเข้ามา หรือเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เงินเก็บหมด ครัวเรือนเหล่านี้ก็จะประสบปัญหาทันที

 

ข้อมูลข้างบนนี้กำลังชี้ให้เราเห็นว่า “สังคมไทยอาจจะยังไม่พร้อมต่อการเกษียณ” เมื่อครัวเรือนไทยเปราะบางทางการเงินและสิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

วัยใกล้เกษียณเงินเก็บน้อย เพราะภาระหนี้-วินัยการออม

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เสี่ยงรายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ โดยจะเห็นได้จาก 45% ของกลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีสินทรัพย์สะสมรวมน้อยกว่า 1 ล้านบาทเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเก็บน้อย มีสินทรัพย์น้อย คือ ภาระหนี้ และ วินัยการออม

  • กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณที่มีหนี้ 56% มีสินทรัพย์รวมต่ำกว่า 1 ล้านบาท
  • กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณในกลุ่มเก็บออมไม่ค่อยได้มี 57% ที่มีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 100,000 บาท

คนวัยทำงานราว 1 ใน 4 ออมไม่ได้เลย ยิ่งรายได้น้อยยิ่งออมไม่ไหว

ลองย้อนมาดูผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 ตั้งแต่ วัยทำงาน เราจะเห็นชัดขึ้นว่า ปัญหาการออม คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเกษียณในสังคมไทยเป็นเรื่องยาก

  • คนวัยทำงานที่ออมได้ทุกเดือนมีแค่ 37% เท่านั้น
  • แบ่งเป็น 18% ออมได้ทุกเดือนตามจำนวนที่ตั้งใจ 19% ออมได้ทุกเดือนจำนวนไม่เท่ากัน
  • คนวัยทำงานที่ออมได้บางเดือนมี 35%
  • คนวัยทำงานที่ออมไม่ได้เลยมี 28%

หรือแปลว่าราว 1 ใน 4 ของคนวัยทำงานทั้งหมดไม่สามารถออมได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น คือ ในกลุ่มที่รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนมีแค่ 10% เท่านั้นที่ออมได้อย่างสม่ำเสมอ 

สาเหตุสำคัญมาจาก ปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 – 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มมีหนี้ก้อนใหญ่แล้ว

อายุมาก-รายได้ต่ำ มีวินัยการออมน้อยที่สุด

ด้าน SCB EIC ให้ความเห็นว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ที่ผลสำรวจพบว่า มีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่ คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่า สามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ

โดย ภาระค่าใช้จ่าย เป็นอุปสรรคหลักในการออมเงินทุกช่วงวัย ทั้งภาระค่าใช้จ่ากสูงและภาระหนี้ ทั้งหนี้ที่อยู่อาศัยและหนี้รถยนต์ พอเจาะลงลึกไปอีกจะเห็นว่า กลุ่ม 31-50 ปีมีภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น คิดเป็นราว 75% ของคนอายุ 31-40 ปีและ 60% ของคนอายุ 41-50 ปี โดยช่วงวัย 31-50 ปีเป็นช่วงที่คนเริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่ ทำให้สัดส่วนผู้มีหนี้เกิน 5 แสนบาทในกลุ่มนี้สูงถึง 30%

อย่างไรก็ตาม สำหรับวัยต่ำกว่า 30 ปีที่พึ่งเริ่มต้นทำงานและเงินเดือนไม่สูงนัก มี รายได้น้อย เป็นอุปสรรคหลักในการออมมากกว่าภาระค่าใช้จ่าย

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่มีผลต่อการออมมากๆ คือ การเก็บก่อนใช้ เพราะคนที่สามารถออมได้สม่ำเสมอทุกเดือน 90% เป็นคนที่ เก็บก่อนใช้ ขณะที่คนกลุ่ม ใช้ก่อนเก็บ บางคนออมไม่ได้เลย จนถึงออมได้ตามที่ตั้งใจไว้

โดย พฤติกรรมเก็บก่อนใช้ ขึ้นอยู่กับ รายได้ เป็นหลัก ส่วนใหญ่พบในกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ คนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้ คือ กลุ่มที่มีรายได้ 30,000 ต่อเดือนขึ้นไปก็เริ่มเก็บก่อนใช้แล้ว (50%) ถือว่าเร็วกว่ากลุ่มอายุเยอะที่จะเริ่มเก็บก่อนใช้ตอนรายได้ 50,000 ขึ้นไป

โดยสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปสามารถเก็บก่อนใช้ได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น เป็นเพราะว่าภาระค่าใช้จ่ายยังไม่มาก สนใจหาความรู้ทางการเงินมากกว่า และชอบเปรียบเทียบฐานะการเงินกับคนอื่นๆ

แต่ถ้าเป็น คนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีคนเก็บก่อนใช้แค่ 25% SCB EIC อธิบายว่า กลุ่มนี้ ยังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ไม่ประหยัดเท่าคนรายได้เท่ากันที่อายุมากกว่า และนำไปใช้จ่ายก่อนเก็บมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ที่มีรายได้พอๆ กัน

คนรุ่นใหม่สนใจลงทุน แต่ขาดแคลนเงินทุน-ความรู้ เลยมีแต่เงินฝาก

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุนของ SCB EIC พบว่า คนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

กลุ่มรายได้น้อย ต้องดูแลเร่งด่วน ให้เกษียณได้

SCB EIC บอกในช่วงท้ายว่า เพื่อให้คนไทยมีชีวิตหลังเกษียณที่ดีได้ จะต้องมีนโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ เพื่อปรับการออมให้เหมาะกับชีวิตของคนไทยแต่ละกลุ่ม โดยแบ่งเป็น

กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน :

  • กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่างๆ
  • กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม :

  • กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า
  • กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา