โควิดทำคนรวยไม่ได้ออกไปใช้เงิน ต้องแห่ประมูลเครื่องประดับและของมีค่าออนไลน์แก้เหงา

ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคนทุกกลุ่มทั่วโลก ทั้งชีวิตประจำวันของคนทั่วไป รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทต่างๆ ที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตามสถานการณ์

บริษัทจัดการประมูลก็เป็นธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะไม่สามารถจัดการประมูลด้วยวิธีปกติได้ ซึ่งต้องมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก บริษัทจัดการประมูลหลายแห่งจึงได้เปลี่ยนวิธีการประมูลไปเป็นการประมูลออนไลน์แทน

การจัดประมูลออนไลน์ของ Sotheby’s ภาพจาก sothebys.com

Sotheby’s บริษัทจัดการประมูลงานศิลปะ เครื่องประดับ และของมีค่าได้ประกาศปิดสำนักงานในลอนดอน ฮ่องกง ดูไบ เจนีวา มิลาน และปารีส ซึ่ง Jen Zatorski ผู้บริหารของ Sotheby’s เล่าว่าบริษัทพร้อมที่จะใช้งานระบบการประมูลออนไลน์ ผ่านช่องทางและเทคโนโลยีที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นมานานหลายปี ส่วนลูกค้าก็มีความพร้อม และต้องการที่จะเริ่มการประมูลออนไลน์แล้วเช่นกัน

แม้เสียงของผู้เชี่ยวชาญจะแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคิดว่าบริษัทจัดการประมูลเล็กๆ จะไม่สามารถปรับตัวสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการจัดประมูลออนไลน์ได้ เพราะไม่มีความพร้อม แต่บางส่วนกลับมองว่าบริษัทเล็กๆ ก็สามารถปรับตัวได้เช่นกันเพราะมีเทคโนโลยีรองรับ

เครื่องประดับคือสิ่งที่มีความต้องการประมูลสูงในช่วงนี้ ภาพจาก pixabay.com

Pierce Noonan ผู้บริหารของ Dix Noonan Webb บริษัทจัดการประมูลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เล่าว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนรวยส่วนใหญ่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่รู้ว่าจะใช้เงินซื้ออะไร ทำให้มีคนรวยจำนวนมากที่สนใจประมูลซื้อนาฬิกา เครื่องประดับ และของมีค่าผ่านระบบออนไลน์

เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะ ที่เล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีมหาเศรษฐีจำนวนมากซื้องานศิลปะมาไว้ในการครอบครอง เพราะงานศิลปะเป็นสิ่งที่สามารถอยู่รอดได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต แต่อย่างไรก็ตามหากใครคิดว่าในช่วงนี้จะมีงานศิลปะที่มีชื่อเสียง ถูกเปิดประมูลในราคาถูกคงต้องคิดใหม่ เพราะในช่วงนี้คงจะมีแต่งานศิลปะที่ไม่ค่อยมีชื่อหลุดออกมาประมูลมากกว่า เหมือนความต้องการซื้อมีมาก แต่ความต้องการขายมีน้อย

แต่การประมูลออนไลน์คงเป็นเพียงการปรับตัวชั่วคราวของบริษัทจัดการประมูลเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว บรรยากาศการประมูลแบบสดๆ ที่จัดขึ้นในโรงละคร หรือหอประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถเห็นสิ่งของที่นำมาประมูลด้วยตาตัวเอง โดยเฉพาะงานศิลปะที่มีราคาแพงในระดับ 100,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมประมูลยิ่งอยากเห็นของจริงด้วยตาตัวเองก่อนตัดสินใจมากกว่าที่จะตัดสินใจประมูลออนไลน์

ที่มา – SCMP

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา