รอยเตอร์เผย คนไทยอ่านข่าวจากโซเชียลมากกว่าแหล่งข่าว มีสัดส่วนคนใช้ TikTok มากที่สุด ขณะที่คนอ่านข่าวน้อยลงทั่วโลก 

รายงานเผย วงการข่าวซบเซาทั่วโลก คนไม่ค่อยสนใจข่าว มีส่วนร่วมพูดคุยลดลง ขณะที่ไทยมีผู้ร่วมถกเถียงพูดคุยประเด็นข่าวมากที่สุดในโลกแต่ตามข่าวจากโซเชียลมีเดียมากกว่าจากแหล่งข่าว

Reuters Institute for the Study of Journalism เผยรายงาน Digital News Report หรือรายงานการติดตามข่าวสารของผู้คนทั่วโลกประจำปี 2023 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ คิดเป็น 64% มักจะติดตามข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่มีเพียง 7% เข้าสู่แพลตฟอร์มของสำนักข่าวโดยตรง และ 23% ค้นหาข้อมูลเองหรือติดตามจากเว็บไซต์ที่เป็นบุคคลที่ 3 

ผลการรายงานเผยว่า ในประเทศเอเชีย คนส่วนใหญ่ติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียในทิศทางเดียวกับไทย โดยกลุ่มคนที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะติดตามข่าวจากสำนักข่าวโดยตรงน้อยกว่าและมีแนวโน้มจะใช้โซเชียลมีเดียมากกว่ากลุ่มคนที่อายุมาก

พฤติกรรมการรับข่าวสารของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมทั่วโลก มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 22% ที่ติดตามข่าวบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของสำนักข่าวโดยตรง น้อยลงจากปี 2018 ที่มีอยู่ 32% 

Facebook ยังคงเป็นโซเชียลมีเดียที่ผู้คนมักจะใช้เป็นแพลตฟอร์มรับข่าวมากที่สุด แต่อิทธิพลของแพลตฟอร์มกลับมีน้อยลงเนื่องจากทาง Meta ให้ความสำคัญกับธุรกิจข่าวลดลง รวมทั้งยังมีคู่แข่งอย่าง YouTube และ TikTok โดยเฉพาะ TikTok ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ทำให้มีผู้ใช้ช่วงอายุ 18-24 ปี คิดเป็น 44% ทั่วโลก และมีจำนวน 20% ที่ใช้ TikTok เพื่อดูข่าว 

TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในไทยจนมีสัดส่วนผู้ใช้ TikTok ในไทยเพื่ออ่านข่าวเป็นอันดับ 1 ร่วมกับเปรู โดยทั้ง 2 ประเทศมีคน 30% ใช้ TikTok เพื่อติดตามข่าวในขณะที่คนไทย 51% และคนเปรู 48% ใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ จากการสำรวจประเทศที่ใช้ TikTok ส่วนใหญ่ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ลาตินอเมริกา และแอฟริกาบางประเทศ

ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้ TikTok เพื่อติดตามข่าวมากที่สุด สีแดงเข้มหมายถึงมีวัดส่วนมาก ไปจนถึงสีแดงอ่อนหมายถึงมีสัดส่วนน้อย ส่วนสีเทาหมายถึงประเทศที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจหรือ TikTok ไม่ได้เข้าไปทำธุรกิจ

นอกจากนี้ พฤติกรรมในการใช้โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มแตกต่างกันไป โดยใน TikTok, Instagram และ Snapchat มีแนวโน้มที่ผู้ใช้จะให้ความสนใจกับบุคคลที่มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลที่โด่งดังบนโซเชียลมากกว่าแหล่งข่าว ขณะที่บน Facebook และ Twitter ผู้ใช้ให้ความสำคัญกับนักข่าวและสำนักข่าวมากกว่า

ส่วนผู้ที่มีส่วนร่วมในการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับประเด็นข่าว (Active Participators) อย่างการโพสต์ข่าว หรือแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ร่วมพูดคุยเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีคนไทย 36% ที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์และอินเดียอยู่ที่ 34%

ในทางกลับกัน ผู้มีส่วนร่วมในการพูดคุยประเด็นข่าวกลับมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ จากในอดีต ในภาพรวมทั่วโลก มีผู้ที่มีส่วนร่วมพูดคุยเรื่องข่าวแค่ราว 1 ใน 5 หรือ 22% แต่มีผู้ที่ไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ เลยเกือบครึ่งหรือ 47% รวมทั้งยังมีผู้ติดตามข่าวและสนใจในประเด็นต่าง ๆ ลดลงแม้ว่าจะมีการคาดหวังให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันทั้งด้านการเมืองและสังคม

ปัญหาของเรื่องการติดตามข่าวยังเป็นเรื่องข่าวปลอม คนทั่วโลก 56% กล่าวว่า พวกเขามีความกังวลในการแยกความแตกต่างว่าข่าวใดเป็นข่าวจริงและข่าวใดปลอม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ 54% นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดตามข่าวเป็นหลัก (64%) มีความกังวลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเลย (50%) 

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ Digital News Report  

ที่มา – Reuters

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา