สมาคมโฆษณาฯ เผยเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลปี 2022 โตขึ้นน้อยกว่าที่คาด คาดปี 2023 ธุรกิจยานยนต์โตที่สุด

DAAT เผย Meta ยังเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิตของการโฆษณาดิจิทัล ธุรกิจสนใจ Engagement มากขึ้น ขณะที่กฎหมาย PDPA เป็นความท้าทายใหญ่ของวงการโฆษณา

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมมือกับคันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด เผยผลสำรวจมูลค่าการใช้จ่ายในการโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2022 

ในการสำรวจได้เก็บข้อมูลจากเอเจนซี่ด้านการโฆษณาและการตลาด 39 แห่ง (คิดเป็น 80% ของมูลค่าโฆษณาทั้งหมด) ครอบคลุม 59 ประเภทอุตสาหกรรมที่โฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล 17 ประเภท มีผลการสำรวจ ดังนี้

โฆษณาดิจิทัลปี 2022

ในปี 2022 ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาดิจิทัล 25,729 ล้านบาท เติบโตจากปี 2021 อยู่ 4% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 9% 

อุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินไปกับโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (2,535 ล้านบาท) กลุ่มสกินแคร์ (2,467 ล้านบาท) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (2,414 ล้านบาท) กลุ่มธุรกิจการสื่อสาร (2,004 ล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม (1,539 ล้านบาท)

การเติบโตของเม็ดเงินที่ใช้ไปกับการโฆษณาดิจิทัลตั้งแต่ปี 2012-คาดการณ์ปี 2023

สาเหตุที่การโฆษณาดิจิทัลเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาจากที่ภาคธุรกิจยานยนต์ชะลอการใช้จ่ายเงิน ส่วนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าประเภท FMCG ก็ลดการโฆษณาลงเช่นเดียวกันเนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลพยายามตรึงราคาสินค้าไว้ไม่ให้ปรับขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงที่สุดในปี 2022 คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 65% ตามด้วยกลุ่มวิตามินและอาหารเสริม 23% และกลุ่มธนาคารที่ 22% เมื่อเทียบกับปี 2021 และมีความเป็นไปได้ว่าจะเติบโตในเชิงบวกต่อเนื่องในปีนี้

สาเหตุที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตสูงเป็นเพราะในช่วงปี 2020-2021 มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง แต่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวทำให้ชาวจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการลงทุน รวมทั้งนโยบาย LTV 100% ที่ให้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้ทั้งหมด ส่วนธุรกิจธนาคารก็เติบโตขึ้นจากการขยายบริการ Mobile Banking 

นอกจากนี้ หากจำแนกตามประเภทสื่อที่ใช้ในการโฆษณาดิจิทัล พบว่า Meta (Facebook รวมกับ Instagram) ยังมียอดการใช้จ่ายเงินไปกับการโฆษณามากที่สุด อยู่ที่ 8,748  ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินลงทุนทั้งหมด เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง ขณะที่สื่อออนไลน์วิดีโอมีแนวมาแรง ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4

แพลตฟอร์มที่ถูกใช้มากที่สุดเพื่อการโฆษณาดิจิทัล ตั้งแต่ 2021-คาดการณ์ปี 2023

คาดการณ์โฆษณาดิจิทัลปี 2023

ในปี 2023 คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายเงินไปกับการโฆษณาดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้นจากปี 2022 ที่ 7% คิดเป็นมูลค่า 27,481 ล้านบาท

คาดว่าในปีนี้โดยเฉพาะในช่วงต้นปีจะยังมีการชะลอการใช้เงินเพื่อการโฆษณาดิจิทัลต่อเนื่องจากปี 2022 สืบเนื่องมาจากภาวะความไม่แน่นอนหลายอย่างทั้งจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ความขัดแย้งสหรัฐอเมริกา-จีน ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้พลังงานสูงขึ้น 

ทั้งนี้ ก็ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลบวกอย่างการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงต้องจับตามองว่าอาจทำให้เม็ดเงินในธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์เลือกตั้งของไทยเองในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนอุตสาหกรรมที่จะเติบโตสูงสุดในปี 2023 คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ (คาดว่าจะเติบโต 14%) ตามด้วยเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มสกินแคร์ กลุ่มการสื่อสาร และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม ตามลำดับ 

กลุ่มธุรกิจที่ใช้เงินกับการโฆษณาดิจิทัลมากที่สุด ตั้งแต่ 2020-คาดการณ์ปี 2023

อุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตสูงที่สุดเพราะสถานการณ์การขาดแคลนชิปเพื่อผลิตรถยนต์ส่งมอบให้ลูกค้าดีขึ้น ผู้เล่นในตลาดรถยนต์ปัจจุบันเริ่มเจาะตลาดกลุ่มรถยนต์หรูมากขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ก็น่าจะมีการออกสินค้าและทำการตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภภาคมที่อากาศร้อน

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารก็คาดการณ์ว่าจะยังเติบโตในปี 2023 เนื่องจากแม้จะไม่มีโครงการ LTV 100% แล้ว แต่คนจีนและคนรัสเซียก็มองหาอสังหาริมทรัพย์ในไทย รวมถึง Mobile Banking ก็ยังเติบโต 

ส่วนสื่อที่ใช้ในการเผยแพร่โฆษณาดิจิทัลอันดับ 1 คาดว่ายังคงเป็น Meta เหมือนเดิม ตามด้วยโฆษณาบน YouTube และออนไลน์วิดิโอ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การโฆษณาบน TikTok เพิ่มขึ้น 189% และคาดการณ์ว่าในปี 2023 ก็น่าจะยังเติบโตแต่ไม่เท่าเดิม

พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะ Gen Z

พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยเปลี่ยนไปมาก ในปี 2022 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด รวมทั้งคนไทยกว่า 73% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ และอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตมากไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ 

สื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่ม Gen Z ได้ คือ YouTube เป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ ยังมี TikTok ไลฟ์อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมสูงมาก ตามด้วย Instagram ที่ Gen Z มักใช้ในการสื่อสาร ปิดท้ายด้วย Twitter ที่มักใช้ในการติดตามเพื่อความบันเทิง

สรุป Agency Outlook

  1. วัตถุประสงค์ของนักการตลาดในการใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลยังใช้เพื่อสร้าง Brand Awareness มากที่สุดอยู่ แต่สิ่งที่เริ่มเข้ามามีความสำคัญมากขึ้น คือ Engagement และ Brand Consideration
  2. การทำการตลาดผ่านโฆษณาดิจิทัลเน้นไปที่การตอบสนอง Business Objective มากขึ้นแทนที่การสนใจแค่ยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว แต่เปลี่ยนมาเน้นขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์
  3. เครื่องมือในการวิเคราะห์การโฆษณาดิจิทัล ในปี 2022 อันดับ 1 ยังเป็น E-commerce Marketing Tools 83% ตามด้วย data Analytics Platform 71%  ตามด้วย Real-Time Dashboard, Monitoring Tools 54% แต่เทรนด์ที่น่าสนใจ คือ แอปพลิเคชันแชทหรือ Chatbot มาแรงเนื่องจากผู้บริโภคต้องการข้อมูลสินค้าและการซื้อขายที่รวดเร็ว
  4. ความท้าทายของธุรกิจโฆษณาดิจิทัล คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในการทำการตลาดรอบด้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งผู้มีความรู้ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง แม้ว่าการเรียนรู้จะทำได้ง่าย แต่การนำมาปรับใช้ได้ดียังเป็นเรื่องยาก
  5. กฎหมาย PDPA ที่ใช้รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และเทรนด์ Cookieless ทำให้การทำโฆษณาให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายยากขึ้นจากข้อมูลที่มีจำกัดมากขึ้น ทำให้ต้องมองหาพาร์ทเนอร์มาช่วยในการจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์จาก DAAT

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา