การกลับเข้าสู่ออฟฟิศฟังดูเหมือนเป็นสัญญาณของการกลับมาสู่ชีวิตที่เคยเป็นปกติ แต่หลายคนเริ่มปรับตัวกับการทำงานนอกสถานที่ไปเสียแล้ว มันคือการปรับตัวในวิถีใหม่อีกครั้งหลังโควิดระบาดหนักๆ 2 ปีกว่า เป็นการปรับตัวในวิถีใหม่ที่แพงขึ้น
หลายคนต้องจ่ายทั้งค่าเสื้อผ้าหน้าผมเพราะเปิดตู้เสื้อผ้ามาก็เจอแต่เสื้อผ้าสำหรับใส่อยู่บ้านชิล ๆ ไหนจะเครื่องสำอางที่ทยอยหมดอายุไปแล้ว แถมยังมีค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเพราะต้องเข้าออฟฟิศหลายวันต่อสัปดาห์
ตัวอย่างจาก Jessica Chou นักข่าวของสำนักข่าว Wall Street Jourrnal ที่เผยว่าเธอเองมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น 20-30% เมื่อต้องกลับเข้าออฟฟิศ อย่างค่าเครื่องดื่มเวลานั่งคุยงานก็ 3-4 เหรียญหรือ 100 กว่าบาทแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้ TikTok หลายคนกล่าวว่า พวกเขาใช้เงิน 30-45 เหรียญหรือประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อวันแค่เฉพาะกับค่าเดินทาง ค่ากาแฟ และค่าอาหารกลางวันเท่านั้น เท่ากับว่าหากต้องเข้าออฟฟิศมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ก็ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 3,500 บาท
แต่สำหรับในไทย เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ นั่งวินจากบ้านไปต่อรถไฟฟ้าและนั่งวินต่อเพื่อเข้าออฟฟิศ เช้า เย็น ก็ตกวันละ 200 บาทได้เลย ทั้งเดือนอาจพุ่งไปถึง 3-4,000 บาทได้ นี่ยังไม่นับรวมคนที่ใช้รถส่วนตัว ต้องแบกค่าน้ำมันยันค่าที่จอดรถอีก ไม่นับรวมตอนเสียเวลาคอยขับรถเพื่อเวียนมาจอดใหม่ ไม่ให้มีค่าจอดเพิ่ม เป็นต้น
การกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศไม่ได้มีแค่เรื่องค่าใช้จ่ายแต่มีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การทำงานที่บ้านทำให้ประหยัดทั้งเวลาแต่งตัวและเวลาเดินทาง จากเดิมที่อาจจะต้องตื่นก่อนเวลาทำงาน 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าทำงานที่บ้านตื่นมาก่อนการทำงานไม่กี่นาทีก็ทำได้
อย่างไรก็ตาม มุมมองของคนทำงานทั่วไปกลับแตกต่างจากกลุ่มเจ้าของบริษัทและซีอีโอทั้งหลาย อย่าง Elon Musk เองถึงกับพูดว่าการทำงานแบบ Remote Work เป็นเรื่องที่ ‘ไม่ถูกทำนองคลองธรรม’ รวมทั้งหลายบริษัทก็พากันเรียกร้องให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศไม่ว่าจะเป็น Apple ที่บังคับเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์หรือ Disney ที่ประกาศให้พนักงานต้องออกจากบ้าน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid เข้าออฟฟิศบ้าง ไม่เข้าบ้าง ย่อมส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายมากกว่าเรียกร้องให้เข้าทุกวัน
- Apple เริ่มใช้มาตรการ ‘นับวันเข้าทำงาน’ ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์
- เผื่อจะมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น: Disney ออกนโยบายให้พนักงานทำงานออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน
ความขัดแย้งเรื่องสถานที่ทำงานของนายจ้างและลูกจ้างเป็นปัญหามากกว่าที่คิด
ปีที่ผ่านมารายงานของ ADP Research Institute สำรวจความคิดเห็นของพนักงานกว่า 32,000 คนใน 17 ประเทศเผยว่า คนทำงานทั่วโลก 64% เลือกที่จะหางานใหม่หากนายจ้างบังคับให้กลับไปทำงานออฟฟิศ 100% โดยกลุ่มที่ไม่อยากกลับไปทำงานมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 18-24 ปี
หากลองมองภาพใหญ่ขึ้นอีกนิด อาจพูดได้ว่าปัญหานี้บานปลายจนกลายเป็นปัญหาระหว่างคนแต่ละรุ่นเลยก็ว่าได้
อย่างในออสเตรเลีย หลายบริษัทต่างพากันนำนโยบายทำงานที่ออฟฟิศมาใช้เพราะเชื่อว่าพนักงานจะพัฒนาทักษะและมีโอกาสทำงานได้ดีกว่า แต่เรื่องกลับไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า Nicole Duncan ซีอีโอของ CR Commercial Property Group ผลักดันการเข้ามาทำงานในออฟฟิศจนมองว่ากลุ่ม Gen Z ซึ่งต้องการทำงานที่บ้านเป็นกลุ่มที่ ‘เห็นแก่ตัว’ ทั้งที่คนกลุ่มนี้แค่ต้องการทำงานแบบยืดหยุ่น แถมฐานเงินเดือนก็น้อยกว่าเหล่าผู้บริหารหลายเท่า ย่อมแบกรับค่าใช้จ่ายมากกว่าคนเจนอื่น
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยมองว่าการบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศจะทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงานและมีส่วนร่วมกับการทำงานน้อยลง และผลวิจัยก็เผยให้เห็นว่าพนักงานส่วนใหญ่ในออสเตรเลียชอบที่จะทำงานในลักษณะ Hybrid Work แบบให้ทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2-3 ต่อสัปดาห์มากกว่า
พนักงานในหลายบริษัทก็โชคดีหากนายจ้างยอมผ่อนปรนให้ทำงานแบบ Hybrid Work ในระยะยาวเราอาจเห็นวิธีการทำงานแบบใหม่ที่สามารถประนีประนอมความคิดของทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเกิดขึ้นอีก แต่หากยืนยันจะให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศดังเดิม 100% นายจ้างอาจต้องหาวิธีช่วยเหลือไม่ให้พนักงานต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากเกินไปด้วย
ตัวอย่างที่หลายบริษัททำ เช่น สวัสดิการจัดรถรับส่งเฉพาะจุด เพิ่มสวัสดิการอาหารและเครื่องดื่ม หรือสามารถให้พนักงานเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางได้ ฯลฯ เพื่อไม่ทำให้พนักงานแบกรับภาระมากไป กรณีที่ต้องกลับเข้าออฟฟิศ 100%
ที่มา – Business Insider, New.com.au
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา