วิจัยเผย ในอเมริกา ถ้าสมัครงาน ชื่อต้องเหมือนฝรั่งผิวขาว โอกาสผ่านเข้ารอบจะสูง

แม้การสมัครงานจะเป็นเรื่องของการแข่งขัน แต่ก็ไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำสูง งานวิจัยจากฮาร์วาร์ด พบว่า หากคุณไม่ใช่ฝรั่งผิวขาว และสมัครงานในอเมริกาโดยเปิดเผยชื่อและเชื้อชาติที่แท้จริง โอกาสเรียกสัมภาษณ์งานมีประมาณ 10% เท่านั้น

Photo: Pixabay

เปลี่ยนชื่อและปกปิดเชื้อชาติ โอกาสสูงขึ้นจริง

งานวิจัยของของ Katherine DeCelles จากภาควิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษารูปแบบการสมัครรับเข้าทำงานผ่านการสร้างเรซูเม่กว่า 1,600 ชิ้น แล้วส่งไปตามเว็บไซต์กว่า 16 เมืองในสหรัฐอเมริกา โดยวัดผลความสำเร็จจากการโทรเรียกให้ไปสัมภาษณ์ในรอบต่อไป

ผลปรากฏว่า ถ้าระบุลงไปในเรซูเม่ว่าเป็นแอฟริกัน-อเมริกันหรืออเมริกันผิวดำ จะได้รับการติดต่อกลับประมาณ 10% ในขณะเดียวกัน ถ้าเรซูเม่มีคุณสมบัติเหมือนกันทั้งหมด แต่ปกปิดเชื้อชาติเอาไว้ และเปลี่ยนชื่อจริงและใส่ประสบการณ์ที่ดูเหมือน “ฝรั่งผิวขาว” เข้าไป โอกาสในการติดต่อกลับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 25%

ตารางแสดงการติดต่อกลับของการสมัครงานของชาวแอฟริกันอเมริกันที่ปรับให้ดูเป็นฝรั่งผิวขาวมากขึ้น

ในขณะที่ชาวเอเชีย ผลวิจัยไปในทางเดียวกันคือ ถ้าระบุชื่อจริงและเชื้อชาติลงไปในเรซูเม่ โอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์มีเพียง 11.5% เท่านั้น แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อจริงและใส่ประสบการณ์ให้ดูเหมือน “ฝรั่งผิวขาว” ตัวเลขในการเรียกสัมภาษณ์กลับอยู่ที่ 21%

ตารางแสดงการติดต่อกลับของการสมัครงานของชาวเอเชียที่ปรับให้ดูเป็นฝรั่งผิวขาวมากขึ้น

ชื่อและประสบการณ์แบบไหน ที่เรียกว่าดูเหมือน ฝรั่งผิวขาว

เริ่มที่ “ชื่อ” กันก่อน เอาเข้าจริงแล้ว ผู้สมัครงานหลายคนอาจทราบดีว่า การเปลี่ยนชื่อนั้นสำคัญ เพราะหมายความว่าโอกาสได้งานจะสูงขึ้น อย่างเช่น คนเอเชียที่ตอนแรกอาจชื่อ “ลี” (Lei) ก็จะเปลี่ยนให้ดูเป็นฝรั่งผิวขาวมากขึ้นเป็น “ลุค” (Luke)

ส่วน “ประสบการณ์” เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขา การเล่นสโนว์บอร์ด หรือการพายเรือคายัค คือต้องเป็นกิจกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมที่ดูตะวันตก

ทีมงานวิจัยได้ไปสัมภาษณ์คนเอเชียและคนแอฟริกันอเมริกัน 59 คน อายุระหว่าง 18 – 25 ปี พบว่า กว่า 36% ตระหนักดีถึงการทำให้เรซูเม่ตัวเองดูเป็น “ฝรั่งผิวขาวมากขึ้น” นอกจากนั้นคนในกลุ่มนี้กว่า 1 ใน 3 ยังบอกว่าคนรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวก็ทำแบบนี้เหมือนกัน

สาวเอเชียคนหนึ่งในบรรดาผู้ถูกสัมภาษณ์ บอกว่า “ก่อนที่ฉันจะเปลี่ยนชื่อ ฉันไม่เคยได้รับการติดต่อให้ไปสัมภาษณ์งานที่ไหนเลย แต่หลังจากที่เปลี่ยนชื่อ ฉันก็ได้รับโอกาสนั้น”

Photo: Pixabay

ผู้สมัครชาวเอเชียหลายคน ระบุตรงกันว่า มักปกปิดเชื้อชาติที่แท้จริง เพราะกลัวว่านายจ้างอาจกังวลเรื่องภาษา ส่วนผู้สมัครชาวแอฟริกันอเมริกันมักปกปิดว่า เคยมีองค์กรเกี่ยวกับคนผิวดำที่สนับสนุนตนมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทุนจากมหาวิทยาลัย หรือองค์กรทางสังคมทั้งหลาย เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินจากเรซูเม่ที่ส่งไป และไม่ได้รับโอกาสในการเข้าไปสัมภาษณ์งาน

สรุป

บริษัทหลายแห่งในสหรัฐอเมริกายังคงมีทัศนคติต่อ “ชื่อ” และ “ประสบการณ์” ที่ดูไม่เป็นฝรั่งผิวขาว ทำให้คนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการสมัครงานที่ไม่เป็นธรรมต้องดิ้นรนด้วยการไม่เปิดเผยสิ่งที่อาจทำให้เสียคะแนน หรือไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน ทั้งที่หลายครั้งบริษัทต่างๆ มักประกาศในใบรับสมัครงานว่าเชื่อมั่นในความแตกต่างหลากหลาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผลวิจัยพิสูจน์ว่า มันไม่เป็นเช่นนั้น

ทางออกที่เป็นไปได้คือ “ผู้สมัคร” ต้องปกปิดสิ่งเหล่านั้นเพื่อปกป้องโอกาสของตนเอง ส่วนทางแก้ที่เป็นไปได้คือบริษัทต้องหันมาพิจารณาคุณสมบัติที่ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อ เชื้อชาติ และเคารพความแตกต่างหลากหลายของประสบการณ์ เพราะถ้าไม่เปลี่ยน โครงสร้างแบบนี้ก็จะคงอยู่ต่อไป ท้ายที่สุด “ความซื่อสัตย์” ที่มักระบุในใบสมัครงานก็เป็นแค่คำสวยหรูที่ไม่ได้มีคุณค่าใดๆ ทั้งต่อตัวบริษัทและผู้สมัครงานเท่านั้นเอง

ที่มา – HBSWK, วิจัย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา