การทำงานหลังยุคโควิด พนักงานขอลาออกดีกว่า ถ้าบริษัทไม่ให้อิสระกับการทำงาน

สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นพร้อมกับทุกๆ เข็มของวัคซีนที่ได้ฉีดไป แต่ว่า การตัดสินใจของผู้บริหารบางส่วนที่ต้องการเรียกพนักงานกลับมาที่ออฟฟิศ ดูจะสวนทางกับความต้องการของพนักงานที่เคยชินกับการทำงาน WFH ในยุค New Normal ไปเสียแล้ว

สัญญาณการกลับมาของชีวิตมนุษย์เงินเดือน

ในขณะที่บริษัทอย่าง Google, Ford Motor, และ Citigroup ได้ให้คำสัญญาว่าจะอนุญาตให้ทำงานแบบยืดหยุ่นกันมากขึ้น ประธานบริษัทหลายคนกลับยกความสำคัญของการทำงานในออฟฟิศขึ้นมาพูด บางคนกล่าวว่าการทำงานนอกออฟฟิศมีข้อเสียหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำลายทีมเวิร์คและวัฒนธรรมขององค์กร

Jamie Dimon ประธานบริหารธนาคาร JPMorgan Chase ให้สาเหตุไว้ว่า การทำงานข้างนอกออฟฟิศ “ไม่เวิร์คสำหรับคนที่ต้องเดินทางติดต่องานตลอดเวลา”

ทว่า เหล่าพนักงานทั้งหลายกลับไม่ค่อยเห็นด้วยนัก

ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่าคนเราทำงานที่ไหนก็ได้ด้วยซ้ำ แถมยังไม่ต้องลำบากจากเวลาเดินทางอันยาวนาน หรือ การเบียดเสียดกับผู้คนบนระบบขนส่งสาธารณะอีกด้วย บางส่วนก็ย้ายบ้านไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็กังวลกับอันตรายจากไวรัสโควิด-19 ทั้งสำหรับตนเองและเพื่อนร่วมงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ภาพโดย Marvin Meyer จาก Unsplash

เมื่อปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องเดินทาง แถมยังประหยัดเงินอีก ทำไมถึงยังต้องเข้าออฟฟิศ?

ตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานในยุคหลังโควิดจะเป็นอย่างไร 

งานวิจัยชี้ว่าพนักงานออฟฟิศในสหรัฐอเมริกามีเพียง 28% เท่านั้นที่กลับเข้าไปทำงานที่อาคารสำนักงาน บริษัทหลายแห่งเลือกที่จะรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ก่อน ทั้งด้านจำนวนผู้ติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และ ศูนย์ดูแลเด็กที่ยังเปิดไม่ครบ ซึ่งสร้างความไม่สะดวกต่อพนักงานที่ต้องดูแลลูก

ถึงแม้ว่าบริษัทจะอยากเรียกตัวพนักงานกลับมาก็ตาม แต่แบบสำรวจที่สัมภาษณ์มนุษย์เงินเดือนชาวสหรัฐอเมริกาไปกว่า 1,000 คนชี้ว่า 39% อาจจะพิจารณาลาออก ถ้าเจ้านายไม่อนุญาตให้ทำงานทางไกล (remote work) ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างของช่วงวัย (generation gap) ก็ค่อนข้างชัดเจน สัดส่วนของชาว Millennial และ Gen Z ที่ต้องการทำงานทางไกลสูงถึง 49%

ในด้านของการทำงานจากบ้าน ผู้ตอบแบบสำรวจ 84% ชอบการที่ไม่ต้องเดินทางมากที่สุด ตามมาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ 75% ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจได้ให้ข้อมูลว่า การทำงานนอกสถานที่ช่วยให้พวกเขาประหยัดเงินได้มากกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 156,000 บาท) และเหตุผลอื่นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด การได้อยู่กับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น รวมถึงการต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกอีกด้วย

สำหรับ Portia Twidt คุณแม่ลูกสองวัย 33 ปี ผู้ที่เพิ่งจะลาออกจากงานที่พยายามเรียกให้เธอเข้าออฟฟิศ ให้ความเห็นว่า เจ้านายบางคนต้องการที่จะกลับมาควบคุมในตัวพนักงานอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่เกิดในรุ่นที่ไม่คุ้นกับการทำงานออนไลน์สักเท่าไหร่

“เจ้านายแบบนั้นรู้สึกว่า ถ้าเขาไม่ได้จับตามองอยู่ พวกเราต้องไม่ได้ทำงานอยู่แน่ๆ” เธอกล่าวเสริมอีกว่า “เป็นการแสดงอำนาจของคนยุคเบบี้บูมเมอร์”

ทางเลือกของพนักงานที่มากขึ้น

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีทางเลือก ยังมีคนอีกหลายล้านชีวิตที่ทำงานในด่านหน้า ทั้งพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งพนักงานส่งของ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องเจอกับลูกค้าด้วยตัวจริงของตัวเองเท่านั้น

แต่สำหรับคนที่เลือกได้ หลายคนกำลังพิจารณาทางเลือกทั้งหลายของตัวเองอยู่ อธิบายโดยรองศาสตราจารย์ Anthony Klotz อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ Texas A&M University ผู้ที่วิจัยเรื่องปัจจัยการลาออกของพนักงาน ซึ่งเจ้านายหลายๆ คนที่มีท่าทีแข็งกร้าวควรรู้เรื่องนี้เอาไว้ โดยเฉพาะในยุคที่มีการขาดแรงงานในตลาดแบบปัจจุบัน

“ถ้าบริษัทของคุณกำลังหวังให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนแต่ก่อน คุณอาจจะเดาถูกก็ได้ แต่มันก็เป็นการคาดเดาที่เสี่ยงอยู่เหมือนกัน” เขากล่าว

Workplace

วัฒนธรรมองค์กรที่หายไป

อีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มีความเข้าใจเรื่อง New Normal และมีเพียง 20% ที่ต้องการจะกลับไปทำงานแบบเดิมเหมือนก่อนมีสถานการณ์โควิดทุกประการ แต่มีเพียง 13% เท่านั้นที่พร้อมจะยอมยกเลิกการเข้าออฟฟิศแบบสิ้นเชิง

ในส่วนของวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับการเข้าออฟฟิศ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดว่าการเข้าออฟฟิศน้อยกว่านั้น หรือการไม่เข้าเลย จะสามารถทำให้วัฒนธรรมองค์กรคงอยู่ต่อไปได้

อนาคตของมนุษย์ทำงาน: Work From “Anywhere”

Alison Green ผู้บุกเบิกของเว็บไซต์ให้คำปรึกษาเรื่องชีวิตการทำงาน Ask a Manager เล่าให้ฟังว่าได้รับการติดต่อมากมายจากคนที่กังวลเรื่องไวรัส และเรื่องการหางานที่สามารถทำงานทางไกลได้

ถึงแม้ว่าบางอย่างจะหายไปจากการเลือกทำงานทางไกล เช่น โอกาสในการร่วมมือกับเพื่อนร่วมงาน หรือ การได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่แบบตัวต่อตัว แต่เธอเชื่อว่า “เราสามารถมีการถกเถียงที่ลึกซึ้งกว่าความเชื่อที่ว่า ‘พนักงานเก่งแค่ในออฟฟิศ’ ได้”

สำหรับ Sarah-Marie Martin ผู้ที่ทำงานเป็นหุ้นส่วน (partner) ของ Goldman Sachs ช่วงเวลาหลายเดือนตอนที่เกิดสถานการณ์โควิดทำให้เธอมีเวลาวางแผนชีวิตของเธออีกรอบ

“เมื่อฉันต้องประสบกับสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ฉันก็มีเวลาในการคิดทบทวนมากขึ้น ซึ่งฉันไม่มีโอกาสแบบนี้ในตอนที่ใช้ชีวิตแบบเก่าอยู่ ฉันไม่มีเวลาในการคำนึงถึงสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจตัวเอง หรือ เรื่องปรัชญาชีวิตใดใดทั้งนั้น”

Martin ผู้ที่มีลูกห้าคน ถือโอกาสการย้ายครอบครัวของเธอไปยังริมชายหาดรัฐ New Jersey และเมื่อบริษัทของเธอเริ่มเรียกให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เธอก็ไม่อยากจะนึกถึงเรื่องการเดินทางเลย

เมื่อไม่นานมานี้ เธอก็ตอบตกลงเปลี่ยนที่ทำงานมาเป็น CFO ของบริษัท Yumi ผู้ผลิตอาหารเด็กทารกแทน ซึ่งตำแหน่งนี้อนุญาตให้เธอทำงานทางไกลได้อย่างไร้เงื่อนไข 

Gene Garland หนุ่มวัย 24 ปี ผู้ที่เป็นพนักงานบริษัท IT แห่งหนึ่ง ได้เปิดโอกาสให้คนนับแสนบนทวิตเตอร์มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องการทำงานทางไกล หลังจากเพื่อนร่วมงานของเขาลาออกถึง 2 คน หลังจากบริษัทเรียกให้กลับไปทำงาน

ทวิตของเขามีเอนเกจเม้นเกิน 2 แสนครั้งและผู้ร่วมสนทนาเกือบพันคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีแผน หรือย่างน้อย ความคาดหวัง ที่จะลาออกเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าตัวของ Garland จะยังไม่มีแผนลาออกก็ตาม แต่เขาก็เข้าใจคนที่อยากลาออก “การที่ต้องทำงานในสถานที่เดียว ทำให้คุณเสียเวลากว่าที่คิดมากนัก” เขาให้ความเห็น “มีคนมากมายกลัววงจรของการทำงาน ทำงาน และทำงานวนไป — แล้วคุณก็ตายลง”

แม้แต่พนักงาน Apple ก็ไม่ชอบใจการทำงานในออฟฟิศ ถึงขนาดร่างจดหมายส่ง Tim Cook ให้พิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากประกาศเรียกพนักงานเข้ามาทำงานที่บริษัทถึง 3 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ Facebook และ Twitter อนุญาตให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ตลอดไป แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลง

สรุป

การทำงานยุคใหม่ เมื่อ Life ใน Work-Life Balance สำคัญขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีก็พัฒนาได้ดีมากพอ การเข้าออฟฟิศก็ดูจะมีความสำคัญหรือแม้แต่ความจำเป็นน้อยลง 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เร็วขึ้นมาก หลังจากสถานการณ์โควิดบังคับให้ทุกคนต้องปรับตัว น่าจับตามองว่าบริษัท ผู้บริหาร และ พนักงานจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกันอย่างไร ในยุค New Normal ที่ถูกเร่งปฏิกริยานี้

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา