นักวิจัย Stanford เผย เรียนจบในยุคเศรษฐกิจแย่ ทำงานหนักแต่ได้เงินน้อย กระทบยาวนับสิบปี

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford เปิดเผยว่า การเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบในระยะยาว ทำงานหนัก แต่ได้เงินน้อย เสี่ยงตาย แถมมีอัตราการแต่งงานน้อยกว่า

ในช่วงนี้โลกของเราต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้ และการใช้ชีวิตของทุกๆ คน ไม่ใช่เฉพาะคนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่คนที่กำลังเรียนจบ อยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยกับการทำงาน ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

อัตราการว่างงานของประเทศไทย ประจำเดือนธันวาคม 2563 มีทั้งสิ้น 5.9 แสนราย หรือราว 1.5% ของประชากร เทียบกับในปี 2562 ที่มีผู้ว่างงาน 3.48 แสนราย (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน)

คำถามที่เกิดขึ้นคือ คนที่เรียนจบในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบอย่างไร ในเมื่อพวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้เริ่มต้นการทำงานอย่างเต็มตัว ก็น่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่คิดหรือไม่

ความจริงหากจะตอบคำถามว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างไรคงไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่ได้มีใครเคยทำการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน แต่ในต่างประเทศเคยมีงานวิจัยคล้ายๆ กัน ทำการศึกษาผลในระยะยาวของคนที่เรียนจบใหม่ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการหางานยาก แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นต่อคนที่เรียนจบใหม่ในช่วงเวลานั้นระยะยาวหลายสิบปี บางครั้งอาจเป็นผลกระทบที่มีตลอดชีวิตก็ได้เช่นกัน

เศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลต่อคนเรียนจบใหม่ในระยะยาว

งานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า Recession Graduates: The Long-lasting Effects of an Unlucky Draw หรือการศึกษาผลกระทบในระยะยาวของคนที่เรียนจบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี 2019 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลกในปี 2020 แต่ก็อาจพอเทียบให้เห็นภาพได้ว่าคนที่เรียนจบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไรบ้าง

งานวิจัยชิ้นนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยวิเคราะห์ข้อมูลในระยะยาวกว่า 30 ปี จากคนที่เพิ่งเรียนจบ หรือต้องลาออกจากการเรียนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ทำงานหนัก แต่รายได้น้อยกว่าไป 10-15 ปี

ผลจากการวิจัยพบว่า เศรษฐกิจตกตำ่จะส่งผลกระทบกับคนที่เรียนจบใหม่ในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สังคม ต้องทำงานหนัก แต่ได้เงินค่าตอบแทนน้อยกว่า อัตราการแต่งงาน และการมีลูกน้อย รวมถึงมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น โดยผลกระทบทุกอย่างนี้จะเริ่มชัดเจนเมื่อผู้ที่เรียนจบใหม่เข้าสู่ช่วงวัยกลางคน

สำหรับในด้านการทำงาน และเงินค่าตอบแทนที่คนที่เรียนจบใหม่ในช่วงเศรษฐกิจตกตำ่ได้ จากข้อมูลที่ผู้วิจัยเก็บรวมรวมพบว่าไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นๆ เพียงไม่กี่ปีแต่อย่างใด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดในระยะยาวนาน 10-15 ปี กว่าผลกระทบทางด้านรายได้ของผู้ที่เรียนจบใหม่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจะหายไป

ไม่ใช่แค่คนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย หรือคนที่ออกจากมหาวิทยาลัยไปก่อนเรียนจบ เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงานได้ยากกว่า

แม้ผลกระทบด้านรายได้จะหายไปหลังจากเวลาผ่านไป 10-15 ปี แต่กลายเป็นว่าในช่วงอายุ 30-50 ปี คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอีกครั้งในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยังไม่รวมผลกระทบทางด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตระยะยาวของผู้ที่เรียนจบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

อัตราการเสียชีวิตมากกว่าจากพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ผลการวิจัยพบว่าคนที่เรียนจบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจะมีอัตราการเสียชีวิตที่มากกว่า อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพในช่วงวัยรุ่น ยิ่งในช่วงวัย 30 ปี ขึ้นไป จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น จากสถิติพบว่ายิ่งมีอัตราการว่างงานในช่วงเรียนจบมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในอีกด้านหนึ่งของชีวิตความเป็นอยู่ พบว่า คนที่เรียนจบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจะมีอัตราการแต่งงาน และการมีลูกที่น้อย อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์

สำหรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อชีวิตของคนที่เรียนจบใหม่ในระยะยาวนี้แม้ว่าผู้วิจัยจะยังไม่ได้สรุปสาเหตุโดยตรงว่าเกิดจากอะไร แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดจาก “ภาวะเศรษฐกิจ” ที่ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเป็นสำคัญ

“Hysteresis” ผลกระทบระยะยาวที่แก้ไม่หาย

จากผลกระทบของเศรษฐกิจตกต่ำที่มีต่อคนที่เรียนจบใหม่ มีคำๆ นึงที่สามารถอธิบายผลกระทบนี้ได้เป็นอย่างดี คือคำว่า Hysteresis ซึ่งหมายถึงการที่ต้นตอของปัญหาถูกแก้ไขไปจนหมดแล้ว แต่ผลกระทบของปัญหานั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่ ไม่ได้หายไปตามต้นตอของปัญหาที่หายไป ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการที่เศรษฐกิจตกต่ำส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงวัยทำงานของคนที่เรียนจบในช่วงเวลานั้น ซึ่งส่งผลต่อไปยังพฤติกรรม และการใช้ชีวิต ในเมื่อการใช้ชีวิตไม่ดี ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงวัยกลางคน

ที่มา – Stanford

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา