โควิด-19 ทำพิษ วิกฤตเด็กจบใหม่ ไม่รู้ชะตากรรมว่าเมื่อไรจะได้งานทำเสียที

First Jobber เป็นคำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเหล่านักศึกจบใหม่ ที่เพิ่งเริ่มทำงานในที่แรก นักศึกษาหลายคนวาดฝันไว้ว่าจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

ในแต่ละปีมีนักศึกษาจบใหม่กว่า 264,441 คน ภาพจาก pixabay.com

จากสถิติของ ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พบว่าในปี 2561 มีผู้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เป็นจำนวน 404,581 คน แบ่งเป็นสายวิทยาศาสตร์ 126,092 คน และสายสังคมศาสตร์ 278,489 คน (อ่านข้อมูลสถิติเพิ่มเติมได้ที่นี่)

สถิติอัตราการว่างงานของคนไทย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนมกราคม 2563 มีคนไทยว่างงาน 4.06 แสนคน ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ คนไทยมีแนวโน้มว่างงานเพิ่มมากขึ้น กลายเป็น 4.19 แสนคน (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่)

จากอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดูเหมือนว่าการหางานคงไม่ใช่เรื่องง่ายของนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้เสียแล้ว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกับบริษัท และผู้ประกอบการหลายราย จำเป็นต้องมีการพักงานชั่วคราว หรือบางแห่งถึงกับต้องปลดพนักงานออกเพื่อความอยู่รอด แน่นอนว่านักศึกษาจบใหม่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการหางานของนักศึกษาจบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพจาก pixabay.com

วิกฤตการหางานของนักศึกษาจบใหม่

นางสาวแพรไหม อายุ 22 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง มีความฝันอยากทำงานเป็น Ground Attendant เธอเล่าว่า เริ่มหางานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงนั้นโรคโควิด-19 มีการระบาดอย่างหนักเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น แต่งาน Ground Attendant ที่เธออยากทำก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

จากการเดินทางของชาวจีนที่ลดลง ทำให้งานที่เธอยื่นสมัครไปกว่า 10 ที่ แม้จะมีเรียกไปสัมภาษณ์บ้างและได้รับการยืนยันว่ามีแนวโน้มได้เข้าทำงานแน่นอน แต่ต่อมาเมื่อโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย และทั่วโลก บริษัทที่เธอไปสัมภาษณ์งานก็เงียบหายไป ทำให้เธอต้องเปลี่ยนแผนการหางานใหม่

ก่อนหน้านี้เธอยอมรับว่ามีความกดดันจากครอบครัวบ้างเพราะยังไม่ได้งานทำ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้น ที่บ้านจึงเลิกกดดัน เพราะความปลอดภัยของชีวิต และสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากบ้านของเธอมีธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ที่พอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้โดยไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวเธอก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สินค้าที่เคยไม่พอขาย กลายเป็นว่าในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ขายแทบไม่ได้เลย

แต่ดูเหมือนว่าในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 จะไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น เพราะแพรไหมเล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เธอยังไม่มีงานทำ เธอใช้เวลานี้ในการพัฒนาทักษะให้ตัวเองเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่มีความสำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบัน

นายนัท อายุ 23 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง เล่าว่าเขาใช้เวลาหลังเรียนจบ 2 เดือนแรกไปกับการพักผ่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มหางาน แม้ในช่วงเวลาที่เขาเริ่มหางานจะเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดอย่างหนักในประเทศไทยแล้ว แต่ความจริงแล้วโควิด-19 ก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่จะทำให้ได้ หรือไม่ได้งานทำ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทักษะที่มีมากกว่า ถ้าทักษะ หรือคุณสมบัติของเราเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ก็มีโอกาสที่จะได้งานทำมาก แม้ว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 จะไม่ได้กระทบกับการหางานของเขาเลย เพราะในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเรียกเขาไปสัมภาษณ์งาน แต่เขาจำเป็นต้องปฎิเสธไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความกังวลไม่กล้าออกจากบ้าน ในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก

ความกดดันจากครอบครัวเรื่องหางานทำ เป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่เกิดความเครียด ภาพจาก Shutterstock

สิ่งที่นัทกังวลอย่างหนักไม่ใช่เรื่องการหางานทำ เพราะที่บ้านพร้อมจะให้การสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจหางานทำ หรือเรียนต่อปริญญาโท แต่สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดกลับเป็น ธุรกิจรีสอร์ตของครอบครัวในจังหวัดทางภาคเหนือ ที่มียอดแขกเข้าพักลดลงกว่า 40% จนตอนนี้ครอบครัวของเขาตัดสินใจปิดรีสอร์ตชั่วคราว เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์

แม้ว่าก่อนหน้านี้รีสอร์ตของเขาจะมีมาตรการทำความสะอาดห้องพักอย่างละเอียดก็ตาม แต่แน่นอนว่าทั้งแขกที่เข้าพักก็มีความกังวล และครอบครัวของเขาก็กังวลว่าแขกที่เข้ามาพักอาจป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ

นางสาวต้นรัก อายุ 21 ปี เล่าว่า ในช่วงใกล้เรียนจบเธอวางแผนไว้ว่าในช่วง 6 เดือนแรกหลังเรียนจบ เธอจะใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพื่อพักผ่อน และเก็บประสบการณ์ก่อน แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้แผนการดังกล่าวต้องล้มเลิกไป

ต้นรักเล่าเสริมว่า ความเครียดและความกดดันส่วนใหญ่มาจากครอบครัว เพราะครอบครัวคาดหวังว่าจะต้องหางานทำได้ทันทีหลังเรียนจบ เพราะงานคือสิ่งที่การันตีความมั่นคงในชีวิต แต่เธอพยายามไม่กดดันตัวเอง เพราะอยากหางานที่ตรงกับทักษะ และความชอบมากที่สุด

แม้ว่าเธอจะไม่ได้กดดันตัวเอง แต่เธอยอมรับว่ากังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยตรง เพราะบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ชะลอการรับพนักงานใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน หรือบางบริษัทถึงกับปลดพนักงานเก่าออก เพื่อความอยู่รอดเลยด้วยซ้ำ

ภาพจาก Shutterstock

นางสาวลูกหว้า อายุ 23 ปี นักศึกษาจบใหม่ที่ไม่ได้มีความคิดหางานประจำ เพราะอยากสานต่อธุรกิจขายส่งสินค้าของครอบครัวย่านวงเวียนใหญ่ เธอเล่าว่าไม่มีความกดดันเรื่องการหางานจากครอบครัวเพราะครอบครัวสนับสนุนให้ทำธุรกิจต่อจากที่บ้านอยู่แล้ว

ความกดดันส่วนใหญ่จึงมาจากการจัดสรรรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือน ซึ่งในช่วงนี้มีคำสั่งซื้อสินค้าตกค้างที่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนได้ ลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าก็มีน้อยลง ต้องอาศัยคำสั่งซื้อจากบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นร้านค้าขายส่งย่านสำเพ็ง และประตูน้ำ ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน ลูกค้าบางรายถึงกับขนาดต้องปิดร้านไปก่อนชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่าย

การพัฒนาตัวเองในช่วงเวลาว่างเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถทำได้ ภาพจาก pixabay.com

การพัฒนาตัวเอง คือสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่เห็นตรงกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่ทุกคนเห็นตรงกันคือ ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ทำให้พวกเขาต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปหางานทำได้อย่างที่ตั้งใจ หรือแม้มีบางบริษัทที่เรียกไปสัมภาษณ์งาน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การออกนอกบ้านไปพบปะผู้คนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะรับเชื้อมาติดคนในครอบครัว ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมตามความสนใจ เช่น ทักษะภาษาที่สาม การตัดต่อ กราฟฟิก หรือแม้แต่การถ่ายภาพ

บทความที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตัวเองในช่วง Work From Home

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา