เจาะลึกศึกร้านกาแฟของสองปั๊มน้ำมันใหญ่ กาแฟพันธุ์ไทยของพีที และ Cafe Amazon ของปตท. รายได้ต่างกันแค่ไหน ใครมีสาขามากกว่ากัน
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมันไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับการขับรถยนต์เข้าไปจอดเพื่อเติมน้ำมันให้เพียงพอสำหรับการเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าเล็กๆ ที่นักเดินทางสามารถ “ฝากท้อง” ได้อย่างสบายใจ เราจึงมักเห็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่ร้านกาแฟตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันจนกลายเป็นเรื่องปกติ
สำหรับสถานีบริการน้ำมันเจ้าใหญ่ในไทย อย่างปตท. และพีที ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถานีบริการน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 1 และ 2 ในประเทศไทย ต่างก็มี “ร้านกาแฟ” เป็นของตัวเองทั้งสิ้น อย่างในกรณีของปตท. มี Cafe Amazon ในขณะที่พีที มีกาแฟพันธ์ุไทย
ในบทความนี้ Brand Inside จะพาไปดูข้อมูลอินไซต์ของร้านกาแฟภายในสถานีบริการน้ำมันทั้งสองเจ้า ว่าใครเป็นฝ่ายชนะ ทั้งในแง่จำนวนสาขา และรายได้
Cafe Amazon ขายกาแฟไปแล้ว 73 ล้านแก้วใน 1 ไตรมาส
เริ่มกันด้วยเจ้าของสถานีบริการน้ำมันอย่างปตท. ที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาอยู่ราว 2,346 แห่งทั่วประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงเห็นร้านกาแฟ Cafe Amazon จำนวนมาก เรียกได้ว่าในสถานีบริการน้ำมันปตท. ส่วนใหญ่จะต้องมี Cafe Amazon อยู่ด้วย
ด้านจำนวนสาขาของ Cafe Amazon พบว่าปัจจุบันมีอยู่ราว 3,651 สาขา ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสาขาที่มีลักษณะเฟรนไชส์
ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ขายเครื่องดื่มไปได้ 73 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดง่ายๆ ว่า ใน 1 ไตรมาส มี 90 วัน แสดงว่า Cafe Amazon ทุกสาขา สามารถขายเครื่องดื่มได้กว่า 8 แสนแก้วต่อวัน
ปั๊มพีที มีกาแฟพันธุ์ไทย และ Coffee World
ในขณะที่สถานีบริการน้ำมันพีที ที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขาอยู่ทั้งสิ้น 2,103 แห่ง (รวมสถานีบริการน้ำมัน และปั๊ม LPG) มีร้านกาแฟพันธุ์ไทยเป็นร้านขายเครื่องดื่มของตัวเอง
แม้ว่าจำนวนสถานีบริการน้ำมันของพีที จะมีจำนวนน้อยกว่าปตท. อยู่ไม่มาก แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องร้านกาแฟ กาแฟพันธ์ุไทย ยังตามหลัง Cafe Amazon อยู่อีกมาก ด้วยจำนวนสาขาเพียง 281 แห่งทั่วประเทศ คิดง่ายๆ ว่า จำนวนสาขาของกาแฟพันธ์ุไทยคิดเป็นเพียง 7.69% เมื่อเทียบกับจำนวนสาขาของ Cafe Amazon
นอกจากกาแฟพันธุ์ไทยแล้ว พีทียังมี Coffee World ที่พีทีเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2017 จำนวน 60 สาขาทั่วประเทศอีกด้วย
ด้าน “ยอดขาย” ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ กาแฟพันธ์ุไทย ทำได้ทั้งสิ้น 108.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่ Coffee World มียอดขาย 14.08 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนถึง 72.7%
อย่างไรก็ตาม หากจะเปรียบเทียบรายได้ของร้านกาแฟพันธ์ุไทย กับ Cafe Amazon โดยตรงคงทำได้ยาก เพราะตามการรายงานของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในไตรมาส 1 ปี 2564 ไม่ได้แยกรายได้ของ Cafe Amazon ออกมาจากรายได้หมวดหมู่ Food and beverage อื่นๆ
PTTOR มีรายได้ในส่วนของ Food and beverage ราว 2,706 ล้านบาท แต่อย่าลืมว่า PTTOR ยังเป็นเจ้าของร้านอาหาร และเครื่องดื่มอื่นๆ อีก เช่น Pearly Tea, Texas Chicken และร้านติ่มซำฮั่วเซ่งฮงเป็นต้น
แต่ด้วยตัวเลขจำนวนสาขาของ Cafe Amazon ที่มีมากกว่ากาแฟพันธ์ุไทย รวมถึงจำนวนเครื่องดื่มที่ Cafe Amazon ขายได้ 73 ล้านแก้วในไตรมาสเดียว ก็คงต้องยอมรับว่าในขณะนี้กาแฟพันธ์ุไทยยังคงตามหลังอีกไกล
ข้อมูลจาก Listedcompany.com – PTG, PTTOR
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา