เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ฝุ่น PM 2.5 สร้างความเสียหายได้ถึง 2.36 ล้านล้านบาท รัฐต้องแก้ปัญหาจริงจังและตรงจุด

ในงานสัมมนาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 นั้นได้สร้างความเสียหายมากถึง 2.36 ล้านล้านบาท และย้ำว่ารัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเริ่มต้นตั้งแต่การเก็บข้อมูล จนถึงการออกนโยบาย

Bangkok Pollution Smog PM 2.5
ภาพจาก Shutterstock

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา Chula Econ Forum หัวข้อ ฝ่าวิกฤติฝุ่น PM2.5 : ปัญหาและทางออก ชี้ฝุ่นจากการจราจรยังเป็นปัญหาหลักของเมืองหลวง สร้างความสูญเสียที่มองไม่เห็นกว่า 450,000 ล้านบาท ขณะที่ทั้งประเทศปัญหาจากฝุ่นสร้างความสูญเสียมากถึง 2.36 ล้านล้านบาท ผู้สัมมนายังได้ย้ำให้รัฐเก็บข้อมูลจริงจังเพื่อให้นักวิชาการเข้าถึงข้อมูลไว้ออกแบบนโยบายตรงจุด รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าหลายๆ ปัญหานั้นก็แก้ได้ลำบาก

ฝุ่นทำให้อายุสั้นลง

ศิริมา ปัญญาเมธีกุล คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นร้อนในช่วงอากาศเย็นคือ มลพิษที่มาตามฤดูกาล โดยแหล่งกำเนิดหลักในกรุงเทพมหานครมาจากการปล่อยควันเสียจากการจราจร เสริมด้วยมวลอากาศเย็นที่แผ่ปกคลุม ตึกสูงล้อมรอบและพื้นที่สีเขียวน้อยไม่มีตัวช่วยดูดซับ เมื่อวัดค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีพบว่า อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่งานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถลดมลพิษให้อยู่ที่ค่าแนะนำของ WHO ได้ จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนกรุงเทพได้ถึง 75% ดังนั้นการแก้ปัญหาในมุมวิศวกร คือ เริ่มจากจัดการแหล่งกำเนิด ซึ่งหลายฝ่ายจะต้องช่วยกัน แต่ในทางปฏิบัติก็ย้อนแย้งกับการรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ความถี่และจำนวนรถขนส่งสาธารณะไม่เอื้ออำนวย ทางเท้าหรือทางจักรยานไม่สะดวกปลอดภัย หรือการเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีสมัยนี้ทำได้หมด แต่ในเชิงปฏิบัติจริง ต้องมีช่างที่มีองค์ความรู้ มีเรื่องรับรองมาตรฐานความปลอดภัย จดทะเบียน เสียภาษี เมื่อผู้ก่อมลพิษ ผู้รับผลกระทบ ผู้ออกนโยบาย ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ไปด้วยกัน ก็ทำให้เกิดปัญหาคอขวดที่แก้ลำบาก

มีข้อมูลจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม การขอความร่วมมืออย่างเดียวประสบความสำเร็จยากมาก คนที่มีเหตุผลจะปรับพฤติกรรมตามแรงจูงใจ ถ้าไม่ออกแบบอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นหน้าที่ภาครัฐที่จะต้องสร้างแรงจูงใจ

นอกจากนี้ความจำเป็นของการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นที่จะนำไปสู่การออกนโยบายที่ตรงเป้า คือต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก ปัจจุบันเรามีข้อมูลคุณภาพอากาศ มีข้อมูลการเผาจากภาคเกษตรอยู่บ้างจากจุดความร้อน แต่ข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ว่าภาคส่วนไหน ปล่อยแค่ไหน แทบไม่มีเลย ยิ่งข้อมูลเหล่านี้ทำได้เร็ว โปร่งใส และเผยแพร่ได้เร็วเท่าไหร่ นักวิชาการจะสามารถนำมาคำนวณหาผลกระทบได้ทันท่วงที และช่วยเสนอนโยบายที่ตรงจุด หรือแม้กระทั่งช่วยตรวจสอบนโยบายที่ออกมาว่ามีประสิทธิผลคุ้มค่ากับที่รัฐบาลลงทุนไปหรือไม่

ฝุ่นสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาล

วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงแบบจำลองเพื่อประมาณมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย โดยชี้ให้เห็นว่าคนยินดีจ่ายเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่เพื่อลดระดับมลพิษ และคงไว้ซึ่งความพอใจระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พบว่า คนกรุงเทพยอมจ่าย 5,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เพื่อให้ฝุ่น PM 10 ลดลง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในกรุงเทพมีปริมาณฝุ่น PM10 อยู่ที่ 24-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีประชากรกว่า 3 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินในปี 2562 ถึง 450,000 ล้านบาท สังเกตว่าแม้ในภาคเหนือค่าฝุ่นจะสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่เมื่อรวมประชากร 9 จังหวัดภาคเหนือ ยังไม่สูงเท่าประชากรในกรุงเทพ มูลค่าความสูญเสียในเมืองหลงจึงสูงกว่า หากวัดความเสียหายทั้งประเทศในปี 2562 จะอยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานทุกคนได้รับผลกระทบจากฝุ่น

ทางออกแก้ปัญหาฝุ่น

กรรณิการ์ ธรรมพาณิชวงค์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา ได้แก่

  1. สร้างการตระหนักรู้ ให้เห็นถึงโทษและความรุนแรง
  2. ควรมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้น และเชื่อมโยงกับแอพที่เข้าถึงภาคประชาชนได้เรียลไทม์ จะช่วยให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกันตนเอง
  3. ควรเพิ่มความเข้มข้นของการตรวจจับควันดำและสภาพรถยนต์เมื่อต่อทะเบียน ในระยะกลางถึงยาว ต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สูงกว่ายูโร 4

นอกจากนี้ กรรณิการ์ ชี้ว่า ทุกวันนี้บ้านเรามีนโนบายที่กลับทางกันซึ่งลดแรงจูงใจให้เปลี่ยนรถใหม่ เนื่องจากการต่อทะเบียนรถยนต์ประจำปี ยิ่งรถเก่า ภาษียิ่งถูก ในขณะที่ประเทศมอลตาหรือสโลวาเกียในยุโรป โครงสร้างภาษีรถยนต์ประจำปีคือ รถยิ่งเก่า ภาษียิ่งแพง นอกจากนี้ การปรับปรุงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจะช่วยให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ระบบขนส่งมากขึ้น

ขณะที่ภาคเกษตรนั้น วิษณุ อรรถวานิช ชี้ว่าจะต้องมีการสร้างตลาดให้กับเศษวัสดุจากการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะลดการเผาลง เช่น ให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข มิฉะนั้น การรณรงค์ให้เกษตรกรจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ที่ต้องใช้ทั้งแรงงานซึ่งขาดแคลนอยู่แล้ว และใช้เครื่องจักรที่เข้าถึงลำบากจะเป็นการให้เกษตรกรรับภาระต้นทุนแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่ผู้บริโภคก็ยังได้บริโภคสินค้าเกษตรราคาถูกต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ